Monday, June 29, 2015

รีวิวนาฬิกา Wellograph | 4 comments:



Cr. wellograph.com


รีวิวนี้ไม่เน้นรูปถ่ายนะคะ อยากดูรูปนาฬิกาในทุกแง่มุม ดูได้จากรีวิวอื่นโดย search ด้วยคำว่า “Wellograph รีวิว” มีในอินเตอร์เน็ตเพียบค่ะ “แกะกล่อง” ก็ไม่มี เพราะไม่รู้จะให้ดูของอื่นในกล่องไปทำไม

รีวิวนี้จะเน้นไปที่การใช้งาน โดยจะลงรายละเอียดว่า activity tracker ในรูปแบบนาฬิกาตัวนี้ทำอะไรได้บ้าง พร้อมทั้งให้ความรู้เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง แบบที่คุณจะไม่เจอในรีวิวอื่นๆ และปิดท้ายด้วยความเห็นส่วนตัวจากการได้ทดลองใช้ประมาณ 3 สัปดาห์ มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ


นาฬิกามีโหมดการทำงานทั้งหมด 6 โหมดคือ

1) นาฬิกา 


Cr.รูปจาก gadfit


มีการแสดงผล 4 รูปแบบ เลือกได้ตามใจชอบ

1.1) กราฟฟิกนาฬิกาเข็ม และวันที่

1.2) เวลาและวันที่ กราฟฟิกปริมาณแบตเตอรี่ และกราฟฟิกรูปหัวใจที่แสดงการออกกำลังว่าถึงเป้าหมายหรือยัง

1.3) แสดงวัน/เวลา/จำนวนก้าว (หรือเวลาการนั่ง ถ้านั่งนานเกินครั้งละ 5 นาที)

1.4) บรรทัดบนสุดเป็นจำนวนก้าว
ถัดลงมาเป็นกราฟแสดงจำนวนก้าว (แกนซ้ายมือที่กำกับด้วยเครื่องหมาย สามเหลี่ยม) และ เวลาเป็นนาทีที่หัวใจเต้นแรงถึงระดับ cardio (แกนขวามือที่กำกับด้วยเครื่องหมายหัวใจ)
บรรทัดล่างสุดเป็นเวลา และวันที่

ขอบอกก่อนว่าสำหรับ Wellograph เป้าหมายต่อวันของจำนวนก้าวคือ 10,000 ส่วนเป้าหมายนาทีที่หัวใจเต้นแรงถึงระดับปานกลางคือ 30 ซึ่งทั้งสองค่านี้ได้มาจากแนวทางปฏิบัติของสมาคมโรคหัวใจของอเมริกา ที่บอกว่า ถ้าอยากมีสุขภาพดี ควรออกกำลังกายด้วยความเหนื่อยระดับปานกลาง (ประมาณความเหนื่อยของการเดินเร็ว ทำสวน) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที

ดังนั้นสำหรับกราฟใดๆของ Wellograph ที่กำกับแกนด้วยเครื่องหมาย สามเหลี่ยม (STEP) จะมีค่าเต็มสเกลที่ 10000 ก้าว ส่วนกราฟที่กำกับแกนด้วยเครื่องหมายหัวใจ (CARDIO) จะมีค่าเต็มสเกลที่ 30 นาที อย่างในรูป (1.4) จะเห็นว่า เดินไป 1,193 ก้าว ดังนั้นแกนสามเหลี่ยมจึงขึ้นมาแค่ประมาณ 10% ส่วนแกนหัวใจยังเป็น 0 อยู่ นั่นแสดงว่าวันนี้ทั้งวันยังไม่ได้เหนื่อยถึงระดับปานกลางเลย


2) MOVE ตรวจสอบการเคลื่อนไหว


Cr.รูปจาก gadfit

แสดงผลได้ 4 รูปแบบคือ

2.1) กราฟ STEP และ CARDIO แบบที่อธิบายไปแล้ว
ส่วนตัวหนังสือบรรทัดบน แสดง STEP สลับกับระยะทางที่คำนวณได้จาก STEP
บรรทัดล่างแสดง CARDIO เช่นในรูป แปลว่าวันนี้เราเหนื่อยถึงระดับปานกลางไป 26 นาทีแล้ว  

2.2) กราฟซีกซ้ายคือเวลาที่เคลื่อนไหว (ACTIVE) กราฟซีกขวาคือเวลาที่อยู่นิ่ง (IDLE) เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่ได้เดิน มันจะถือว่าเราอยู่นิ่งหมด แม้จะนั่งพิมพ์งานมือเป็นระวิงก็ตาม 

กราฟที่ประเสริฐคือซีกซ้ายต้องกินพื้นที่ของแกนนอนให้มากที่สุด อย่างในรูปจะเห็นว่าซีกซ้ายมีค่าประมาณ 1/5 ของแกนนอน นั่นแปลว่าเวลาที่เราเคลื่อนไหวมีค่าประมาณ 1/5 ของเวลาที่เราอยู่นิ่งๆ ซึ่งสอดคล้องกับค่าที่เป็นตัวเลขซึ่งแสดงอยู่ใน 2 บรรทัดด้านล่าง จะเห็นว่า ACTIVE 42 นาทีคิดเป็น 21% ของ IDLE 3:25 ชั่วโมง 

2.3) กราฟแสดงจำนวนแคลอรี่ในแต่ละชั่วโมงภายในวันนั้น ตัวหนังสือแสดงปริมาณแคลอรี่ในชั่วโมงปัจจุบัน VS แคลอรี่สะสมของวันนี้ (จะรีเซ็ตตอนเที่ยงคืน) 

2.4) กราฟแสดงจำนวนก้าวของแต่ละวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนตัวหนังสือ แสดง จำนวนก้าวสะสมใน 1 สัปดาห์ VS แคลอรี่เฉลี่ย (สลับกับจำนวนก้าวเฉลี่ย) ใน 1 สัปดาห์


3) SIT ระวังภัยนั่งนาน


คลิกภาพเพื่อขยาย

แสดงผลได้ 3 รูปแบบคือ

3.1) แสดงเวลา (เป็นนาที) ของการนั่งในแต่ละครั้ง โดยจะรีเซ็ตเป็น 0 เมื่อลุกเดิน 15-20 ก้าว ส่วนกราฟฟิกรูปเก้าอี้จะกลายเป็นเส้นประมากขึ้นๆ ตามเวลาที่นั่ง จากรูป 3.1B จะเห็นว่าเก้าอี้เหลือแต่ขอบบนของพนักพิงแล้ว เพราะนั่งนานเกือบชั่วโมงครึ่ง เมื่อเทียบกับรูป 3.1 A ที่หายไปแค่ขาเก้าอี้

3.2) กราฟแท่งแสดงเวลาการนั่งต่อเนื่องแต่ละครั้งใน 1 วัน ส่วนตัวหนังสือแสดงจำนวนครั้งที่เรานั่งใน 1 วัน VS เวลารวมของการนั่งใน 1 วัน (แล้วคุณจะทึ่งว่าในแต่ละวัน ตัวเองนั่งสะสมนานถึงเพียงนี้เชียวหรือ !!)

3.3) กราฟแสดงชั่วโมงรวมของการนั่งในแต่ละวันตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนตัวหนังสือแสดงเวลานั่งโดยเฉลี่ยของ 1 วันในสัปดาห์ที่ผ่านมา VS เวลานั่งรวมตลอดสัปดาห์

และถ้าเราตั้งหน้าจอนาฬิกาไว้เป็นแบบ (1.3) แล้วเรานั่งนานเกินครั้งละ 5 นาที การแสดงผลบรรทัดสุดท้ายจะเปลี่ยนจากจำนวนก้าวเป็นเวลานั่งของครั้งล่าสุดแทน และจะมีเสียงบี๊บเตือนเบาๆ 1 ครั้ง ทุกๆ การนั่ง 30 นาที



ฟีเจอร์นี้เพิ่งใส่เข้ามาใน firmware เวอร์ชัน 2.0.8 ที่ออกเมื่อกลางเดือนมิถุนานี่เอง เป็นฟีเจอร์ที่ทันโลกสุดๆ เพราะทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้คนนั่งน้อยลง อย่างที่เราเคยเขียนไว้ในวิ่งทันโลก เรื่องเก้าอี้พิฆาต ที่สรุปว่า แม้จะออกกำลังกายมากแค่ไหน แต่ถ้านั่งมากไปก็อันตรายต่อสุขภาพอยู่ดี ทางแก้คือให้ลุกเดินยืดเส้นสายบ่อยๆ 

น่าเสียดายที่มันยังไม่ฉลาดพอที่จะแยกได้ว่า เรากำลังนั่งหรือเรากำลังยืน เพราะคำแนะนำจากนักวิจัยคือ เราสามารถลดปัญหาของการนั่งทำงานนานๆได้ โดยการยืนทำงานซะเลย อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังว่าใน firmware ตัวต่อๆไป จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เพราะในทางกายภาพ HR ขณะนั่งกับขณะยืน มันไม่ควรจะเท่ากันอยู่แล้ว เนื่องการยืนใช้พลังงานมากกว่า เลือดต้องสูบฉีดมากกว่า

เพิ่มเติม ทางเวลโลกราฟแจ้งมาว่า นาฬิกาแยกระหว่างนั่งกับยืนได้ค่ะ แต่ต้องยืนห้อยแขนลงข้างลำตัว เพราะนาฬิกาแยกแยะกิจกรรมสองชนิดนี้ด้วยตำแหน่งแขน กล่าวคือ มันอนุมานว่าธรรมชาติของคนที่กำลังยืน จะปล่อยแขนลงข้างลำตัว ส่วนธรรมชาติของคนที่กำลังนั่งจะวางแขนในแนวราบ เช่น วางบนตัก วางบนโต๊ะ...ก็ make sense ใช้ได้ค่ะ แต่ไม่ครอบคลุมชีวิตจริง ที่แน่ๆ ก็คือคนยืนทำงานทั้งหลาย เป็นโจทย์ที่ฝ่ายวิจัยพัฒนาคงจะนำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป


4) PULSE วัดอัตราการเต้นของหัวใจ

Cr.รูปจาก gadfit

จุดขายของ Wellograph อยู่ตรงนี้ มันคือ activity tracker ไม่กี่ยี่ห้อที่มี optical HRM มาให้ด้วย (เราเขียนเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว ตามไปอ่านตาม link ได้ค่ะ) การมีข้อมูลด้านอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มเติมมาทำให้ประเมินปริมาณทางร่างกายต่างๆ ได้มากขึ้น แม่นยำขึ้น เมื่อเทียบกับ activity tracker ที่มีแต่ accelerometer ทั่วไป แต่แน่นอน มันจะต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงกว่ากันอย่างชัดเจน...ถูกด้วยดีด้วยไม่มีหรอกนะ ^ ^

นอกจากนั้นในบรรดา activity tracker ที่มีฟีเจอร์วัดหัวใจ Wellograph ยังเป็นยี่ห้อเดียวที่แสดงกราฟ ความแปรผันของหัวใจ (Heart Rate Variability, HRV) นอกนั้นจะแสดงแค่ BPM ซึ่งหมายถึง จำนวนครั้งของการเต้นของหัวใจต่อนาที เท่านั้น

HRV อธิบายแบบง่ายๆก็คือ กราฟที่แสดงการแกว่งของ HR เช่นถ้าวินาทีที่แล้ววัดได้ 60 bpm วินาทีต่อมาวัดได้ 62 bpm ต่อมาก็ 65 จากนั้นกลับไปที่ 62 แกว่งขึ้นลงเช่นนี้ จะถือว่ามี heart rate variability สูง แต่ถ้าวัดตอนไหนก็ 60-61 อยู่อย่างนั้น ถือว่ามี heart rate variability ต่ำ ในทางการแพทย์ค่านี้เอาไปประเมินปริมาณต่างๆของร่างกายได้มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นจะได้พูดถึงต่อไป

โหมดนี้แสดงผล 4 รูปแบบคือ 

4.1) กราฟ HRV // ค่า HR ปัจจุบัน และอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก Resting Heart Rate (RHR) 



รักมาก ณ จุดนี้!! เพราะ Wellograph บอก RHR โดยที่เราไม่ต้องรออ่านค่าตอนที่หัวใจลงต่ำแบบสุดๆ เหมือน HRM ตัวอื่น วิธีของ Wellograph คือมันจะแอบวัด HR ของเราทุกๆ 10 นาที ตลอดวัน แล้วเก็บค่าต่ำสุดเอาไว้ เมื่อไหร่ที่เราอยากรู้ RHR ขึ้นมา ก็กดดูได้เลย

ค่านี้มีประโยชน์มากสำหรับนักวิ่ง เวลาจะตั้งโซนการฝึกซ้อมตาม HR หรือเวลาจะเช็คว่าตัวเองฟิตขึ้นมั้ย หรือเอาไว้ดูว่า เราซ้อมหนักเกินไป (overtrain) หรือเปล่า ในตลาด activity tracker มีเพียง Basis B1 กับ Jawbone Up3 เท่านั้นที่ทำแบบนี้ได้

4.2) กราฟแสดง HR เฉลี่ยของแต่ละวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา
HR เฉลี่ยของทั้งสัปดาห์ VS ค่าสูงสุดต่ำสุดของ HR เฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมา

4.3) กราฟแสดงความฟิตของเราเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่มีอายุเท่ากัน 
ส่วนตัวหนังสือ แสดงเปอร์เซ็นต์ไทล์ดังกล่าว (เช่น %88 แปลว่า ถ้ามีคนอายุเท่าเราอยู่ 100 คน เราจะมีความฟิตสูงกว่า 88 คนในนั้น) VS อายุเมื่อเทียบกับความฟิต (ซึ่งของเราคือ 30 ปี ว่ะฮ่าๆๆ อวดแพร้พพพ)



Wellograph คำนวณ fitness age จาก VO2Max แบบที่วัดตอนไม่ได้ออกกำลังกาย (VO2Max มีสองแบบ แบบแรกทดสอบขณะออกกำลังกาย อีกแบบไม่ต้อง) ซึ่งค่านี้ประมวลผลมาจาก BMI อายุ เพศ RHR และการออกกำลังกายของเราว่ามากน้อยแค่ไหน แล้วนำไปเข้าสูตรคำนวณที่พัฒนาขึ้นโดย Nes et al. (2011) จาก Center of Exercise in Medicine at the Norwegian University of Science and Technology

อยากให้ Fitness Age ต่ำลงต้องทำยังไง

1. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ BMI อยู่ระหว่าง 18.5 to 24.9

2. ทำให้ RHR ต่ำลง เค้าไม่ได้บอกว่าทำยังไง แต่โดยประสบการณ์ตรง การออกกำลังกายชนิดที่ต้องใช้ความอึดเช่น วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยานทางไกล จะทำให้  RHR ของคุณต่ำลงได้แน่นอน...เยอะด้วย!! แบบไม่ต้องรอแก่ (คือถ้าแก่ RHR จะต่ำลงเองตามธรรมชาติ...แต่ไม่ได้แปลว่าฟิตขึ้นนะคะ เพราะถ้าไม่ออกกำลังกาย ค่าอื่นๆที่ใช้ประกอบการตัดสินใจมันก็ยังแย่อยู่ดี)

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ

4.4) READINESS ความพร้อมสำหรับการออกกำลังกายครั้งต่อไป ค่านี้คำนวณได้จาก HRV ซึ่งถ้าเทียบกับการ์มินก็คือ recovery time ที่ไม่ได้บอกเป็นเวลานั่นเอง แต่บอกเป็นแนวโน้มให้เราตัดสินใจเอาเอง ถ้าเข็มเอียงไปทางซ้ายคือควรพักต่อ ถ้าเอียงไปทางขวาคือออกกำลังกายได้ ยิ่งเอียงมากยิ่งเหมาะสมมาก ในรูปเราทดสอบก่อนวิ่งยาว 28 กม. เอียงนิดเดียว...แต่ก็จะวิ่งแล้วง่ะ 555+





5) SLEEP ตรวจวัดการนอนหลับ 



แสดงผลได้ 3 รูปแบบคือ

5.1) กราฟฟิกแสดงชั่วโมงการนอนในคืนที่ผ่านมา พร้อมตัวหนังสือแสดงเวลาดังกล่าว

5.2) กราฟฟิกแสดงเฟสต่างๆของการนอนในคืนที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งหมด 4 เฟสคือ

ZZ = Deep sleep, หลับลึก ร่างกายนิ่ง แทบไม่มีการเคลื่อนไหว
Z = Light sleep, หลับตื้น ร่างกายอาจมีเคลื่อนไหวบ้างแต่เล็กน้อย
D = Dream stage (REM Rapid-eye-movement) เป็นช่วงที่น่าจะฝันอยู่ โดยแม้ร่างกายจะนิ่ง แต่ตามีการเคลื่อนไหวไปมา และอัตราการเต้นหัวใจสูงขึ้น
รูปดวงตา = Awake หรือเป็นช่วงที่มีการตื่น หรือลุกขึ้นมาตอนกลางคืน ขัดความต่อเนื่องของการนอน

การหลับลึก เป็นการพักผ่อนของร่างกาย (body refresh) ส่วนการฝัน เป็นการที่สมองกำลังจัดระเบียบ program and process ข้อมูลที่มีความสำคัญทางอารมณ์ กล่าวโดยย่อทั้งหลับลึกและการฝันล้วนจำเป็นต่อร่างกายของเราค่ะ (ข้อมูลจาก FB: Wellograph Thailand

ตัวเลขแสดง %คุณภาพของการนอน คำนวณยังไงไม่รู้ แต่จากการทดลองใช้ พบว่าสะท้อนความจริงได้แม่นยำพอใช้ เพราะในคืนที่นอนหลับตื่นๆ ไม่สบายไอตลอดคืน เคยได้คุณภาพแค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนในวันที่วิ่งยาว 28 กม.ตั้งแต่ตี 4 แล้วกลับมานอนพักผ่อน 3 ชั่วโมง พอตื่นขึ้นมาก็พบว่าได้คุณภาพ 100% !! แน่ล่ะสิ ก็สลบเหมือดกันเลยทีเดียว

อีกค่าที่แสดงคือ จำนวนครั้งที่ตื่นในคืนก่อน

5.3) กราฟแสดงเวลานอนในแต่ละวันของสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมตัวหนังสือแสดงเวลานอนเฉลี่ยของแต่ละวัน VS คุณภาพเฉลี่ยของแต่ละวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในด้านการแยกแยะเฟสต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการนอน โดยทั่วไปพวก sleep tracker จะแยกแค่หลับลึก หลับตื้น แต่ก็มีบางยี่ห้อที่แยกย่อยไปถึง REM ได้ด้วย โดยถ้าเป็น Jawbone  UP3 จะใช้ข้อมูลเพิ่มเติมจากอุณหภูมิผิวกาย ส่วน Basis B1 จะใช้ข้อมูลเพิ่มเติมจากอัตราการเต้นของหัวใจมาร่วมในการคำนวณ Wellograph ก็ใช้ HR เช่นเดียวกับ Basis B1

Cr. ภาพ huffingtonpost
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย

ถามว่าการแยกแยะเฟสการนอนโดยใช้ activity tracker ทั้งหลายแม่นยำแค่ไหน เมื่อเทียบกับการไปนอนให้หมอทดสอบที่คลินิก แล้วต้องมีสายวัดระโยงระยางแบบที่เรียกว่า polysomnography (PSG) จากการทดสอบของคุณหมอฝรั่งคนหนึ่ง (ถ้าตามไปอ่านจะทึ่งกับแก) พบว่าแม่นยำใช้ได้ โดยความแม่นยำเรียงตามลำดับดังนี้ Basis B1>> Jawbone >>Fitbit >> app 24/7 ใน iPhone (สีแดงคือตื่น สีดำคือ REM สีฟ้าคือหลับตื้น สีน้ำเงินคือหลับลึก)

แม้การทดลองดังกล่าว คุณหมอจะไม่ได้เอา Wellograph ไปทดสอบด้วย แต่ก็เป็นไปได้ว่า การตรวจวัดการนอนหลับโดยใช้ข้อมูลของ HR ร่วมด้วยแบบเดียวกับ Basis B1 สามารถให้ค่าที่เชื่อถือได้



6) RUN นาฬิกาจับเวลาตอนที่เราใส่วิ่ง


Cr.รูปจาก gadfit

 กด Lap ได้เหมือนนาฬิกาจับเวลาทั่วไป เมื่อวิ่งเสร็จแล้ว ถ้ายังอยู่ในโหมดนี้มันจะแสดงหน้าจอ 2 หน้าจอสลับกันให้โดยอัตโนมัติ นั่นคือหน้าจอที่บอกว่าแต่ละ lap ทำเวลาได้เท่าไหร่ กับหน้าจอที่สรุปผลการวิ่งว่า วิ่งไปกี่ก้าว คิดเป็นระยะทางเท่าไหร่ (คำนวณจาก STEP ไม่ได้มี GPS) เพซสูงสุดและเพซเฉลี่ยเป็นเท่าไหร่ เผาผลาญแคลอรี่ไปเท่าไหร่

โหมดนี้ใช้ครั้งเดียว เพราะสายที่ใช้เป็นสายหนัง ไม่อยากให้เปียกเหงื่อเยอะ น้ำหนักนาฬิกาก็ไม่ได้เบา ใส่วิ่งได้ แต่ไม่เวิร์ค

สายหนังสีน้ำตาล สวยเรียบ Cr. wellograph.com
คลิกที่รูปเพื่อขยาย

สรุป


สิ่งที่ชอบ
  • อันดับหนึ่งคือแสดง RHR ได้ทันทีที่ต้องการรู้ แม่นยำด้วย เพราะแอบวัดหัวใจเราอยู่ตลอดเวลา
  • วัด HRV ได้ ซึ่งในอนาคตสามารถนำมาใช้แสดงค่าอื่นๆ ได้อีกมากมาย ส่วนตอนนี้ที่เอามาคำนวณ READINESS ก็ถือว่าพอใช้ได้
  • แยกเฟสการนอนได้ถึง 4 ระดับ ความแม่นยำเรื่องเวลาการนอน และคุณภาพการนอน ถือว่าน่าพอใจ
  • มีฟีเจอร์แสดงเวลานั่ง อันนี้อยากได้มานาน แม้ตอนนี้จะยังแยกไม่ออกระหว่างนั่งกับยืนทำงาน แต่เชื่อว่าใน firmware ตัวต่อๆไปจะทำได้
สิ่งที่ไม่ชอบ
  • ตัวเรือนหนาเกินไป สายหนังแท้แต่ดูไม่ออกเลย ^ ^"
  • pedometer อ่อนไหวง่ายไป ขนาดตั้ง sensitivity เป็น Medium แล้วก็ยังไวเกิน เอามือขยี้ผมก็ขึ้นมาหลาย step แล้ว 
  • อุตส่าห์มีเสียงเตือน แต่ไม่เห็นค่อยเตือนอะไร เตือนทีนึงก็บิ๊บเบายิ่งกว่ายุงตด ดูเป็นนาฬิกาที่สงบเสงี่ยมมากกกก 555+
  • คนจะซื้อเพราะมันเป็นสายหนังและดีไซน์ดูเรียบเก๋ ดังนั้นจึงเอามาวิ่งไม่เวิร์ค แม้จะบอกว่ามีสายไนล่อนถัก (NATO) ให้เปลี่ยนก็เถอะ ใครจะมานั่งเปลี่ยนไปมาแว้

สายสำหรับออกกำลังกาย Cr. wellograph.com

บทสรุปผู้บริหาร


เป็น activity tracker ที่เหมาะสำหรับคนชอบความเรียบหรู หรือบ้าข้อมูล (แบบเราเป็นต้น) เพราะทำอะไรได้เยอะดี และดูว่าผู้พัฒนาตั้งใจพัฒนาให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการอัพเดทความสามารถลงใน firmware ตัวใหม่ เชื่อว่านาฬิกาตัวนี้จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะมี hardware ฉลาดๆ ที่ใส่มาเต็มพิกัดเป็นต้นทุนอยู่แล้ว 

นักวิ่งสมควรซื้อมั้ย? ก็แล้วแต่ว่าจริงจังแค่ไหน ถ้าอยากรู้ STEP/SLEEP คร่าวๆ ก็ใช้ไอ้ที่มีอยู่แล้วในนาฬิกาวิ่ง GPS รุ่นใหม่ๆก็ได้ จะได้ไม่ต้องถอดสลับนาฬิกา ใส่ไปเลย 24 ชั่วโมง

Reference 
Heart Rate Monitor สำหรับนักวิ่ง
reverse engineering ตารางฝึกซ้อมวิ่งฮาล์ฟมาราธอนจาก SmartCoach
ประสบการณ์เมื่อข้าพเจ้าไปทดสอบ VO2max (1)
วิ่งทันโลก: การฟื้นสภาพนั้นสำคัญไฉน

4 comments:

  1. ขอบคุณมากๆเลยครับ เพิ่งสอยมา เห็นรีวิวอื่นเน้นแต่รูปและfunctionคร่าวๆแต่รีวิวนี้เจ๋งมากเลยละเอียดดี

    ReplyDelete
    Replies
    1. ยินดีค่ะ ดีใจที่รีวิวของเรามีประโยชน์ ^ ^

      Delete
  2. เจ๋งอ่ะ เดี๋ยวนี่มีนาฬิกาสำหรับวิ่งแล้วด้วย ที่ท็อปแวลูอ่ะ มีแล้วราคาถูกด้วย

    ReplyDelete
  3. great update. it takes elaborate knowledge to update your knowhow .keep the pace. from Garmin express support

    ReplyDelete

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...