คอลัมน์วิ่งทันโลก
Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2558
โดย oorrunningblog
กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วงการวิ่งถนนของไทยมีดราม่าระดับที่ดังไกลไปทั่วโลก นั่นคือกรณีที่งานวิ่งงานหนึ่งระบุระยะแข่งขันไว้ว่าฮาล์ฟมาราธอน แต่ในวันจริงนักวิ่งที่มี GPS กลับพบว่าระยะทางที่พวกเขาวิ่งยืดไปเกือบ 7 กิโลเมตร คำถามที่เกิดขึ้นในใจของหลายคนก็คือ เค้าวัดระยะทางกันอีท่าไหนทำไมถึงได้ผิดพลาดมโหฬารเช่นนี้ เบื้องต้นคำตอบออกมาแล้วก็คือ การวัดระยะทางไม่ได้มีปัญหา แต่ความผิดพลาดเกิดจากผู้ปฏิบัติงานที่ตั้งจุดกลับตัวผิดจากตำแหน่งที่กำหนดไว้
ผู้เขียนเดาไว้แต่แรกว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะงานนี้ได้รับการรับรองจาก AIMS ซึ่งข้อกำหนดหนึ่งของการออกใบรับรองก็คือ จะต้องทำการวัดระยะทางของการแข่งขันด้วยวิธีที่เรียกว่า Calibrated Bicycle Method ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำมาก ผิดพลาดไม่เกิน 0.1% วันนี้วิ่งทันโลกจึงนำขั้นตอนการวัดระยะทางดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง มาดูกันค่ะว่าเขาออกแบบไว้รัดกุมขนาดไหน
Cr.: The Wall Street Journal |
1) กำหนดเส้นทางการแข่งขันคร่าวๆ
ผู้จัดจะเป็นคนกำหนดเส้นทางการแข่งขันไว้ก่อน ว่าอยากให้จุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน (กรณีไม่ได้วิ่งเป็นลูป) ต้องการให้วิ่งผ่านถนนเส้นไหน ต้องการระยะเท่าไหร่ (10/21/42.195 กม.)
2) วัดระยะของเส้นทางมาตรฐาน
วิธี Calibrated Bicycle มีข้อกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ต้องมีการสอบเทียบจักรยานที่จะใช้วัดระยะทางทั้งก่อนและหลังการใช้งาน โดยถ้าจะให้ดีต้องสอบเทียบปุ๊บแล้วใช้งานปั๊บ เพื่อให้สภาพแวดล้อมต่างๆ ในการสอบเทียบมีค่าใกล้เคียงการใช้งานจริงมากที่สุด ดังนั้นสถานที่ที่จะเลือกมาเป็นเส้นทางมาตรฐานควรจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการแข่งขัน มีลักษณะเป็นทางตรงยาวระยะทางประมาณ 500 เมตร การจราจรเบาบางเพื่อให้สะดวกต่อการวัดระยะและการปั่นจักรยานเพื่อสอบเทียบ
เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้วก็ทำการวัดระยะของเส้นทางมาตรฐานนั้น โดยใช้ตลับเมตรแบบที่ใช้ในงานก่อสร้างนั่นเอง วัดให้ได้ความยาว 500 เมตรพอดีแล้ววัดสวนทางด้วยเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการวัดครั้งแรก ถ้าต่างกันไม่เกิน 5 ซม.ถือว่ายอมรับได้ จากนั้นนำค่าจากการวัดทั้งสองครั้งมาหาค่าเฉลี่ย
วัดระยะเส้นทางมาตรฐานด้วยตลับเมตร Cr.: The Wall Street Journal |
3) สอบเทียบจักรยานกับเส้นทางมาตรฐาน
ตอนนี้เราก็มีถนนที่เชื่อถือได้ว่ามีระยะทาง 500 เมตรแน่ๆ เอาไว้ใช้เป็นมาตรฐานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือนำจักรยานที่ติดเครื่องนับรอบแบบละเอียดที่เรียกว่า Jones Counter (JC) มาปั่นบนเส้นทางนั้น เพื่อดูว่า JC นับได้กี่รอบ โดยปั่นทั้งหมด 4 เที่ยว (ไป-กลับ 2 รอบ) แล้วเอาจำนวนรอบที่นับได้ในแต่ละครั้งมาหาค่าเฉลี่ย
เนื่องจากค่าเฉลี่ยที่ได้มาคือจำนวนรอบที่สัมพันธ์กับระยะทาง 500 เมตร ดังนั้นถ้าอยากรู้จำนวนรอบต่อระยะทาง 1 กม. ก็นำค่าเฉลี่ยดังกล่าวมาคูณ 2 จากนั้นนำมาคูณกับ 1.001 เพื่อชดเชยความคลาดเคลื่อน เรียกผลลัพธ์สุดท้ายนี้ว่า Working Constant เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนี้เราก็พร้อมที่จะวัดระยะทางด้วยจักรยานที่ติด JC แล้ว
Jones Counter Cr. justrunlah |
4) วัดระยะทางของเส้นทางการแข่งขัน
นำจักรยานไปที่จุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดการแข่งขัน (แล้วแต่ว่าผู้จัดต้องการระบุให้จุดไหนเป็นจุดคงที่) หมุนล้อให้ตัวเลขที่หน้าปัดของ JC เป็นเลขที่ดูง่ายเช่น 600000 จากนั้นใช้ค่า Working Constant มาคำนวณว่าในแต่ละกิโลเมตร เลขบนหน้าปัด JC ต้องมีค่าเท่าไหร่ เช่นถ้า Working Constant มีค่าเท่ากับ 11050 เมื่อปั่นครบ 1 กม. เลขบนหน้าปัด JC จะต้องแสดงค่าเป็น 611050 เมื่อปั่นครบ 2 กม. เลขบนหน้าปัด JC จะต้องแสดงค่าเป็น 622100 จดค่าที่คำนวณล่วงหน้าไว้ทุกๆ 1 กม. จนครบระยะที่ต้องการ เช่นถ้าเป็นระยะมาราธอน ก็ต้องคำนวณเช่นนี้ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 42 รวมทั้งจุดครึ่ง 21.0975 กม. ทางและจุดสุดท้ายคือ 42.195 กม. ด้วย
ปั่นจักรยานไปตามถนนที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ทุกๆ ครั้งที่ JC แสดงตัวเลขเท่ากับที่คำนวณไว้ก็หยุดแล้วทำเครื่องหมายลงบนถนน ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง JC แสดงค่าเท่ากับตัวเลขที่คำนวณไว้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของระยะทาง
เส้นทางการปั่นจักรยานบนถนนแบบต่างๆ Cr.: locoraces |
วิธีปั่นจักรยานให้ยึดแนวเส้นทางสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตราบที่ยังอยู่ในขอบเขตของถนนเส้นนั้น ถ้าไม่เข้าใจลองจินตนาการว่าเราเอาเชือกสอดเข้าไปในท่อที่หักเลี้ยวไปมา แล้วดึงจนโผล่มาอีกด้าน ถ้าเอกซเรย์ดูจะเห็นว่าเชือกไม่ได้ขดตามรูปร่างท่อเป๊ะๆ แต่จะพาดข้ามไปมาระหว่าง 2 ฝั่งของขอบท่อ
ดังนั้นเวลาวิ่งในงานแล้วเห็นเพื่อนคนอื่นวิ่งตัดถนนไปมาเพื่อให้ระยะทางสั้นลง ก็อย่าไปเบ้ปากมองบนใส่เขานะคะ เค้าทำถูกกติกาแล้ว แต่ถ้าตัดโค้งจนลงไปวิ่งลุยหญ้าข้างทาง อันนั้นผิดกติกาแน่นอนค่ะ
5) สอบเทียบจักรยานกับเส้นทางมาตรฐานอีกครั้ง
จุดประสงค์เพื่อชดเชยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างทำการวัดระยะทาง ซึ่งทำให้จำนวนรอบต่อ 1 กม. ก่อนและหลังการปั่นวัดระยะในข้อ (4) มีค่าไม่เท่ากัน สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติ โดยส่วนใหญ่เกิดจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทำให้ยางจักรยานขยายตัวมากขึ้น เมื่อปั่นระยะทางเท่าเดิมจึงนับรอบได้น้อยลง
ควรทำการสอบเทียบครั้งนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้หลังจากการวัดระยะทาง ก่อนที่สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ โดยทำเช่นเดียวกับการสอบเทียบครั้งแรก แต่เรียกค่าจำนวนรอบต่อ 1 กม.หลังจากคูณ 1.001 เรียบร้อยแล้วว่า Finish Constant แทน
วิธีสอบเทียบจักรยานที่ติด Jones Counter กับเส้นทางมาตรฐาน |
6) คำนวณระยะทางการแข่งขันใหม่
เมื่อรู้แล้วว่ามีความคลาดเคลื่อนตามข้อ (5) เราจึงต้องหาทางชดเชย เริ่มด้วยการนำ Working Constant และ Finish Constant มาหาค่าเฉลี่ยแล้วเรียกว่า ค่าคงที่ประจำวัน (Constant for the Day) เอาค่านี้หารออกจากจำนวนรอบที่นับได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดระยะทางที่จดไว้ในข้อ (4) ก็จะได้ระยะทางที่ชดเชยแล้วออกมา เช่น หลังจากวัดระยะทางแข่งขันตามข้อ (4) จนครบ 10 กม. พบว่า JC นับได้ 110526 รอบ ถ้าค่าคงที่ประจำวันเป็น 11059 แสดงว่าระยะทางที่วัดจริงมีค่าเท่ากับ 110526/11059 = 9.9942 กม.
7) ปรับระยะเส้นทางการแข่งขันเป็นครั้งสุดท้าย
จากตัวอย่างของขั้นตอนที่แล้ว จะเห็นว่าระยะทางที่วัดได้เปลี่ยนจาก 10 กม. กลายเป็น 9.9942 กม. ดังนั้นในขั้นตอนสุดท้าย จึงต้องมีการปรับระยะทางให้กลับไปเป็นค่าที่ต้องการอีกครั้ง (เช่นในตัวอย่างคือ 10.0 กม.) ซึ่งอาจทำได้โดยย้ายตำแหน่งจุดกลับตัวหรือตำแหน่งเส้นชัย แต่ครั้งนี้เนื่องจากต้องการย้ายตำแหน่งเป็นระยะทางสั้นๆเท่านั้น จึงใช้ตลับเมตรวัดระยะทางโดยตรงเลย เช่นในตัวอย่างอาจทำได้โดยเลื่อนจุดกลับตัวออกไปจากเดิม 2.9 เมตร
จริงๆ ในแต่ละขั้นตอนยังมีข้อกำหนดยิบย่อยอีกมากมาย เพื่อให้แน่ใจการวัดระยะจะเป็นไปอย่างแม่นยำที่สุด เห็นแบบนี้ก็อุ่นใจได้ระดับหนึ่งแล้วนะคะว่า ถ้าเป็นงานที่รับรองโดย AIMS ระยะทางจะถูกต้องตามที่บอกไว้อย่างแน่นอน (ถ้าไม่มี Human Error แบบบ้านเราอะนะ ^ ^”)
========================================
อ่านนิตยสาร Thai Jogging Magazine ฉบับเดือนธันวาคมแบบออนไลน์
วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)
วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)
No comments:
Post a Comment
*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************