Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2556
โดย oorrunningblog
เพื่อนนักวิ่งคงยังจำเหตุการณ์ระเบิดในบอสตันมาราธอนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ใช่มั้ยคะ ระเบิดเกิดขึ้นใกล้เส้นชัยหลังปล่อยตัวประมาณ 4 ชั่วโมง ทำให้นักวิ่งอีกหลายพันคนที่ยังมาไม่ถึงจำเป็นต้อง DNF ไปโดยปริยาย สองคนในนั้นคือชายชราวัย 73 ปีที่กำลังวิ่งพร้อมทั้งเข็นชายพิการวัยกลางคนในวีลแชร์ ห่างจากเส้นชัยเพียงไม่ถึงหนึ่งไมล์รวมอยู่ด้วย
ก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์ พวกเขาเพิ่งไปร่วมงานเปิดรูปปั้น ที่สปอนเซอร์หลักของบอสตันมาราธอนสร้างให้คนทั้งคู่...อะไรทำให้พวกเขา ซึ่งโลกรู้จักในนาม ทีมฮ้อยท์ (Team Hoyt) ได้รับเกียรติถึงเพียงนี้ วันนี้วิ่งทันโลกจะเล่าให้ฟังค่ะ
51 ปีที่แล้ว ดิค ฮ้อยท์ ชายชราผู้วิ่งเข็นวีลแชร์ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นหนุ่มน้อย ได้รับข่าวร้ายครั้งใหญ่ในชีวิตว่า ริค-ลูกชายของเขาที่เพิ่งคลอดออกมามีภาวะสมองพิการ เนื่องจากสายสะดือพันคอทำให้สมองทารกขาดออกซิเจน หมอต่างลงความเห็นว่าริคจะต้องนอนนิ่งๆ เคลื่อนไหวและพูดไม่ได้ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “นอนเป็นผัก” ไปตลอดชีวิต
แต่ดิคและจูดี้ ผู้เป็นภรรยายังมีความหวัง เพราะสังเกตเห็นว่า เมื่อพวกเขาเดินไปยังมุมต่างๆในห้อง ริคจะมองตาม นั่นแปลว่าสมองของทารกยังใช้งานได้ เขาและภรรยาจึงตัดสินใจพาลูกชายกลับบ้าน แทนที่จะทิ้งให้อยู่ในการดูแลของทางโรงพยาบาลตามที่หมอแนะนำ
ภาวะสมองพิการแสดงอาการออกมาได้หลายแบบ สำหรับริค เขามีอาการประเภท spastic quadriplegic ซึ่งอวัยวะต่างๆของร่างกายจะหดเกร็ง ทำให้มีท่วงท่าที่ผิดปกติ เดินไม่ได้และพูดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อดิคและจูดี้ตัดสินใจส่งเด็กชายเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ เพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป สองสามีภรรยาจึงโดนปฏิเสธ
แต่พวกเขาไม่ยอมถอดใจ ดิคพาลูกชายออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งสารพัดชนิด ในขณะที่จูดี้สอนลูกอยู่กับบ้านจนเด็กชายรู้จักตัวอักษรและคำง่ายๆบางคำ ตามระดับสติปัญญาที่เทียบเท่ากับเด็กปกติ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันต่อผู้บริหารโรงเรียนว่า ริคสามารถเรียนร่วมกับคนอื่นได้ ตอนนี้ปัญหาจึงเหลือเพียงแค่ เครื่องมือที่จะทำให้เด็กชายสามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้
ดังนั้นเมื่อริคอายุได้ 11 ปี ดิคจึงพาลูกชายไปปรึกษากับห้องแล็บของ Tuft มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งตั้งอยู่ในบอสตัน บ้านของครอบครัวฮ้อยท์ เพื่อให้ช่วยประดิษฐ์เครื่องมือดังกล่าว เมื่อได้รับการปฏิเสธว่าดูแล้วสมองของเด็กไม่น่าจะใช้การได้ ดิคจึงบอกให้พวกเขาลองเล่าเรื่องตลกให้เด็กชายฟัง ...และแน่นอน...ริคหัวเราะ เมื่อพวกเขาเล่าจบ
ไม่นานริคก็ได้รับคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเขาโดยเฉพาะ เพื่อใช้มัน “พิมพ์” แทนการพูดแล้วเนื่องจากริคไม่สามารถใช้คีย์บอร์ดปกติได้ เวลาต้องการพิมพ์ จะมีแถบแสงจะค่อยๆเลื่อนเองโดยอัตโนมัติไปตามตัวอักษรต่างๆ เพื่อให้เขาใช้ศีรษะแตะสวิทช์ที่ติดไว้ข้างๆตัวเพื่อเลือกตัวอักษรที่ต้องการ ด้วยคอมพิวเตอร์ตัวนี้ ริคจึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนปกติในที่สุด
แทนที่จะพิมพ์ว่า สวัสดีครับแม่ หรือสวัสดีครับพ่อ คำแรกที่เขาสื่อสารต่อโลกก็คือ “บรูอิน สู้ๆ” (Go, Bruins!) โดยบรูอิน คือชื่อทีมฮ็อกกี้น้ำแข็งของเมืองบอสตัน ซึ่งกำลังจะลงแข่งนัดชิงชนะเลิศ Stanley Cup ซึ่งเป็นลีกฮ็อกกี้น้ำแข็งระดับชาติในฤดูกาลนั้นนั่นเอง สิ่งนี้ทำให้ทุกคนได้รู้ว่า ริคชอบกีฬา และติดตามเชียร์กีฬาไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆแต่อย่างใด
ในฤดูใบไม้ผลิปี 1977 เมื่อริคอายุได้ 15 ปี เขาบอกพ่อว่า ต้องการเข้าร่วมวิ่งการกุศลระยะ 5 ไมล์ ที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อระดมทุนให้เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาต แม้ว่าในเวลานั้น ดิคจะเป็นคนอ้วนที่ไม่เคยวิ่งต่อเนื่องได้เกิน 1 ไมล์เลย แต่เขาก็ตอบตกลงที่จะเป็นขาให้ลูกชายเอง โดยการลงวิ่งพร้อมทั้งเข็นวีลแชร์ที่ริคนั่ง เมื่อจบการแข่งขัน คืนนั้นริคบอกกับพ่อของเขาว่า “พ่อครับ ตอนที่เราวิ่งด้วยกัน ผมไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองเป็นคนพิการ”
ประโยคนี้เอง ที่เปลี่ยนชีวิตของดิคไปตลอดกาล เขาปวารณาว่า จะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกชายได้มีความรู้สึกแบบนี้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และนี่เองคือจุดกำเนิดทีมฮ้อยท์ ของสองพ่อลูก ดิคและริค ฮ้อยท์
ความใฝ่ฝันต่อไปของพลเมืองบอสตันพันธุ์แท้อย่างพ่อลูกตระกูลฮ้อยท์คือ ลงแข่งบอสตันมาราธอน งานวิ่งที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกงานหนึ่ง ที่แม้แต่นักวิ่งจากอีกมุมโลก ยังอยากเข้าร่วมสักครั้งในชีวิต หลังจากที่วิ่งแบบไม่ลงทะเบียนอยู่ 5 ปี ในที่สุดทีมฮ้อยท์ก็ทำสถิติผ่านเกณฑ์การคัดเลือกอันแสนโหด และได้ลงแข่งบอสตันมาราธอนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1984
จนถึงปัจจุบัน พวกเขาลงแข่งรายการนี้แล้วทั้งหมด 31 ครั้ง สถิติดีที่สุดคือ 2:40 ชั่วโมง ในปี 1992 นั่นคือช้ากว่าสถิติโลกเพียง 35 นาทีเท่านั้น แต่สิ่งที่แตกต่างชัดเจนคือ แชมป์โลกวิ่งตัวเปล่า ไม่ได้เข็นผู้ใหญ่อีกคนไปด้วยเหมือนดิค
ทีมฮ้อยท์ยังพัฒนาตนเอง ขึ้นไปแข่งกีฬาประเภทใช้ความอดทนอีกหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นทวิกีฬาหรือไตรกีฬา ซึ่งพวกเขาได้แข่งในระยะไอรอนแมนที่ถือว่าโหดที่สุด (ว่ายน้ำ 3.36 กม. ปั่นจักรยาน 180.25 กม. วิ่ง 42.2 กม.) จนจบมาแล้วถึง 6 ครั้ง โดยในการแข่งขันช่วงว่ายน้ำ ดิคจะใช้เชือกล่ามเรือที่ริคนอนอยู่แล้วผูกกับผ้าที่พันอยู่รอบเอว ส่วนในช่วงปั่นจักรยาน เขาจะใช้จักรยานที่ออกแบบเป็นพิเศษให้มีที่นั่งด้านหน้าสำหรับลูกชาย
ทั้งหมดที่พ่อคนนี้ทำ ก็เพื่อให้ลูกได้มีทัศนคติที่ดีว่า ตัวเองไม่ได้บกพร่อง และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ทัดเทียมกับคนทั่วไป ด้วยทัศนคติเช่นนี้เอง ทำให้ริคไม่ได้เป็นแค่ “ผัก” อย่างที่ถูกทำนายเอาไว้ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ทางด้านการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ปัจจุบันเขาสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง ด้วยการทำงานให้ห้องแล็บคอมพิวเตอร์ของวิทยาลัยบอสตัน ในหน้าที่ผู้ช่วยพัฒนาระบบสำหรับช่วยเหลือผู้พิการ
จากประสบการณ์และความสำเร็จที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้ พวกเขาจึงก่อตั้งมูลนิธิฮ้อยท์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรขึ้นเมื่อปี 1989 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างตัวตน ความมั่นใจและความเคารพในตัวเอง ให้แก่เด็กพิการชาวอเมริกัน ด้วยการส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะในด้านกีฬา
36 ปีผ่านไป ด้วยปัจจัยด้านอายุทำให้ทีมฮ้อยท์แข่งขันน้อยลงเหลือแค่ 20-25 ครั้งต่อปี อย่างไรก็ตามถ้าจำเป็นต้องเลือกแข่งแค่รายการเดียวในแต่ละปี ริคจะตอบอย่างไม่ลังเลว่า เขาเลือกบอสตันมาราธอน รายการที่เขารักที่สุด
ทุกวันนี้ หากใครมีโอกาสได้ผ่านไปหน้าโรงเรียนประจำชุมชนฮอพคินตัน บนถนนแอช ซึ่งอยู่ห่างจากจุดสตาร์ทของบอสตันมาราธอนเพียงไม่กี่หลา คุณจะได้เห็นรูปปั้นสำริดขนาดเท่าตัวจริงของทั้งคู่ในอิริยาบถที่ทุกคนคุ้นเคย นั่นคือคุณพ่อกล้ามโตกำลังวิ่งเอนตัวมาข้างหน้า สองมือกำที่เข็นวีลแชร์ ส่วนลูกชายที่นั่งในนั้น กำลังชูมือข้างหนึ่งอย่างผู้ชนะ ใบหน้าระบายยิ้มอย่างมีความสุข อย่างที่เขามักทำเสมอเมื่อผ่านเส้นชัย รูปปั้นนี้มีชื่อว่า “Yes, You Can!” คำขวัญประจำทีมฮ้อยท์ที่พวกเขาใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนนั่นเอง
ที่มา
Team Hoyt Official Website
Wikipedia
Strongest Dad In The World
Team Hoyt Honored with Statue at Boston Marathon Start
========================================
ทดลองอ่านนิตยสาร Thai Jogging Magazine ฉบับย้อนหลัง
วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)
สำหรับผม
ReplyDeleteฐานนะคนที่เพิ่งเป็นพ่อคน และฐานะคนที่เพิ่งเป็นนักวิ่ง (แรกๆ เป็นแค่นักอยากวิ่ง) อ่านแล้ว น้ำตาปริ่ม ด้วยความตื้นตัน และประทับใจ ในขณะที่ขนลุก ด้วยออร่าในตัวมันแผ่พุ่ง เพราะทึ่งในสิ่งที่ดิคทำเพื่อลูก และสิ่งที่ริคแสดงออก
ขอบคุณมากค่ะคุณคทายุทธ
Deleteตอนอ่านเองรู้สึกว่ามันแห้งแล้ง รู้สึกว่าเราอาจจะเขียนเรื่องแบบนี้ไม่ได้
แต่พอเห็นคอมเม้นต์นี้ ก็ทำให้เรามีกำลังใจเขียนเรื่อง inspiration แบบนี้ขึ้นมาอีกเยอะเลยค่ะ ^ ^
ขอบคุณเจ้าของblogที่แชร์สิ่งดีๆครับ อ่านแล้วมีกำลังใจมาก ตอนนี้ผมกำลังรอเวลาฟื้นตัวจากการบาดเจ็บอยู่ เจ็บมาร่วมๆครึ่งปีแล้วครับ เจ็บจนท้อว่าจะกลับมาวิ่งอีกได้ไหมเนี่ย อ่านบทความนี้จบก็บอกตัวเองได้ทันทีเลย.....yes i can
ReplyDeleteมีนักวิ่งที่รู้จักหลายคนเจ็บนานแบบนี้เลยค่ะ เข้าใจความรู้สึกเลย
Deleteไม่ต้องกังวลนะคะ เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อยู่แล้ว
ยังมีเวลาให้เราสนุกกับการวิ่งได้อีกทั้งชีวิตเลย สู้ๆค่ะ ^ ^
เข้าไปดู blog ของคุณ nuisak มาแล้วด้วยค่ะ
Deleteเนื่องจากหาที่คอมเม้นต์ไม่ได้ เลยขอคอมเม้นต์ตรงนี้แทนนะคะ
เราก็เป็นคนนึงที่กระดูกยุง เจ็บง่ายเหมือนกันค่ะ
แต่เรามีความหวังเสมอ เพราะเชื่อว่าร่างกายคนเราฝึกฝนได้
ลองขึ้นไปแตะแนวต้านที่ทำให้เจ็บอยู่เรื่อยๆ ถ้ายังเจ็บอยู่ก็ถอยลงมา
ร่างความแข็งแรงด้วยวิธีอื่นไปพลางๆ แล้วทดสอบใหม่
เรามั่นใจว่าซักวันนึง เราจะยกระดับแนวต้านนั้นขึ้นไปได้ค่ะ
ไม่ทราบว่าตรงกับสิ่งที่คุณกำลังประสบปัญหาอยู่หรือเปล่า
แต่ก็อยากให้กำลังใจไว้แบบนี้อะค่ะ ^___^