ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เมื่อครั้งหัดวิ่งใหม่ๆ แล้ว ว่าอยากเข้าเครื่องทดสอบ VO2max แบบในสารคดีฝรั่ง เคยได้ยินมาว่าในเมืองไทยก็มี โดยจะอยู่ตามภาควิชาพละศึกษาในมหาลัย แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปขอทดสอบได้ยังไง แล้ววันหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยกฏแห่งแรงดึงดูดตามที่หนังสือ The Secret ว่าไว้หรือเป็นเพราะโชคชะตา โอกาสนั้นก็มาถึงอย่างไม่ทันตั้งตัว คุณหมอหมี จากเพจ DrCarebear Samitivej โรงพยาบาลสมิติเวช ได้เชิญเราและเพื่อนอีก 4 คน ไปทดสอบฟรี โดยที่พวกเรา 5 คน ถือเป็น "ชาวบ้าน" กลุ่มแรกที่ได้ลองของ เพราะที่ผ่านมามีแต่นักกีฬาตัวจริงมาใช้บริการทั้งนั้น
อันว่า VO2max คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ รพ.สมิติเวช แต่เราขออธิบายสั้นๆดังนี้
VO2max คือปริมาตรของออกซิเจนที่คนๆหนึ่งสูดเข้าไปได้สูงสุดในช่วงเวลา 1 นาทีหารด้วยน้ำหนักตัว (เพื่อให้สามารถเทียบกันได้ระหว่างคนที่มีรูปร่างต่างกัน) คนเราเมื่อเหนื่อยมากขึ้น ก็จะสูดออกซิเจนมากขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าสูดได้สูงสุดเท่าไหร่ก็ต้องสร้างสภาวะที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยสุดๆ จนไปต่อไม่ไหวแล้ว ซึ่งก็คือการทดสอบที่จะได้เห็นต่อไปในคลิปนั่นเอง
VO2max มีความสำคัญอย่างไร? สำหรับนักกีฬาประเภทที่ต้องใช้ออกซิเจนมากๆ (Aerobic Exercise) เช่นกีฬาเกี่ยวกับความอึดต่างๆ อาทิ วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน การที่ใครคนหนึ่งสามารถสูดออกซิเจนได้เก่งกว่า ก็แสดงว่ามีศักยภาพที่จะเล่นกีฬาประเภทนี้ได้เก่งกว่า อึดกว่า ดังนั้นค่านี้จึงเป็นดัชนีที่ใช้วัดได้ว่าใครมีศักยภาพมากกว่ากัน ส่วนเอาเข้าจริง จะเก่งกว่ามั้ย มันก็ขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อม การกินอยู่ สภาพร่างกายและจิตใจ
VO2max สามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนที่เหมาะสม (เช่นที่พี่กล้วยปั่นเคยแนะนำไว้ในโพสต์เรื่อง การเพิ่ม VO2max ในเพจเรื่องวิ่งเรื่องกล้วย) ดังนั้นแม้เราจะไม่ใช่นักกีฬามืออาชีพ ประเภทที่ต้องคัดตัวกันด้วยค่าความอึด แต่เราก็สามารถใช้ VO2max เป็นดัชนีวัดความสำเร็จของการฝึกฝนได้
ในวันที่ทดสอบ คุณหมอแนะนำว่าควรงดอาหารมื้อใหญ่ก่อนประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อให้ไม่ถูกรบกวนจากอาการจุกหรือการขย้อนของเก่า ซึ่งอาจเกิดขึนได้ถ้าเหนื่อยมากๆ แต่เราก็มิได้นำพา จัดอาหารชุดใหญ่ก่อนทดสอบเพียง 15 นาทีเท่านั้น ^ ^"
เปลี่ยนชุดและรองเท้าให้เหมาะสมแก่การวิ่งเรียบร้อยก็ได้เวลาขึ้นเขียง เพื่อนผู้ชาย 3 คนก่อนหน้าเราต้องถอดเสื้อและให้คุณพยาบาลแปะอิเลคโทรด มีสายระโยงระยางต่อเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่สำหรับผู้หญิง คุณหมอลองให้ใช้ Heart Rate Monitor แบบคาดอก ซึ่งส่งข้อมูลแบบ wireless จะได้ไม่ต้องถอดเสื้อ
จากนั้นน้องพยาบาลก็เอาที่ครอบปาก+จมูก มาให้เราสวมให้แนบกับหน้ามิดชิดเพื่อไม่ให้อากาศลอดออกมา ดูเผินๆคล้ายตัวเองเป็นฮันนิบาล เล็คเตอร์ จากที่ครอบปากจะมีท่อต่อเข้าเครื่อง เพื่อวัดปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราใช้และปล่อยออกมากับลมหายใจ ในภาพอาจดูอึดอัด แต่จริงๆก็หายใจสะดวกดีค่ะ ไม่ต้องฟืดฟาดๆ แบบดาร์ธ เวเดอร์แต่อย่างใด
หลังจากสอบถามอายุ น้ำหนักตัว และระดับ activity คร่าวๆ น้องพยาบาลก็ตั้งโปรแกรมให้มีความโหดเหมาะสมกับคนไข้(เค้าเรียกเราแบบนี้) โดยโปรแกรมของเราตั้งไว้ที่ 12 นาที ก่อนจะตัดการทำงานอัตโนมัติ (เดาว่าเจ๊คนนี้ต้องจอดก่อน 12 นาทีแน่นอน) ความเร็วเพิ่มแบบ linear ตั้งแต่ 6 ถึง 12 km/h ฟังตอนแรกนึกกระหยิ่ม เพราะแค่ pace 5 ข้าพเจ้าวิ่งจนจบแน่นอน หุๆๆ แต่ช้าก่อน!! คุณหมอมีท่ายากด้วยการเพิ่มความชันเข้าไปด้วย แบบ linear ตั้งแต่ 0-8% gradient !! อ๊ากกก รู้ชะตากรรมเลยว่าหนักแน่ เพราะเวลาแข่งวิ่งแล้วต้องไต่เนิน หัวใจกระฉูดนักแล น้องพยาบาลนัดแนะครั้งสุดท้ายว่า ถ้าไม่ไหวให้ยกมือ ถ้ายังไหวให้ชูนิ้วโป้ง ...แล้วการทดสอบก็เริ่มขึ้น
ความเหนื่อยในตอนที่ตัดสินใจหยุด ก็มากโขอยู่ ชนิดที่ต้องอ้าปากหอบตลอด ความถี่ 2 ก้าวต่อ 1 ครั้ง แต่มั่นใจว่าตอนวิ่ง 10K ช่วงจะเข้าเส้นชัยเราเคยเหนื่อยมากกว่านี้ แต่ที่ตัดสินใจหยุดเพราะขาล้าจากการไต่เนิน และอิ่มเกินไปอึดอัดไม่สบายตัว พาลกลัวว่าถ้าปล่อยให้เพิ่มความเร็วไปเรื่อยๆจะก้าวไม่ทัน ไหลตกจากสายพานหน้าทิ่ม เลยขอหยุดดีกว่า
เวลาที่เห็นในคลิปรวมช่วงเวลาวอร์มอัพ 1:30 นาทีไปด้วย แปลว่าเราหยุดที่ 11:20 นาที ณ จุดนั้นความเร็วสายพานอยู่ที่ 11.4 km/h ความชัน 6.25% gradient น่าเสียดายจริงๆ ถ้ากินให้น้อยกว่านี้ ใจสู้ให้มากกว่านี้ อาจจะถึกต่อไปจนจบโปรแกรมก็ได้ (ไม่ได้มีประโยชน์อะไร แค่ได้โชว์พาว 555+)
ผลการทดสอบพบว่าเราน่าจะอู้ 555+ เพราะค่า VO2max ของคนที่มีโพรไฟล์ประมาณเราน่าจะอยู่ที่ 42 (ไม่รู้เหมือนกันว่า predict จากพารามิเตอร์อะไรบ้าง) แต่เราทำได้เพียง 41 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อลองหาข้อมูล VO2max ของผู้หญิงทั่วไป ก็พบว่าความอึดของเราถือว่า Excellent แล้ว
ยังมีเรื่องที่อยากเล่าอีกเยอะ ทั้งผลการทดสอบและโปรแกรมการฝึกซ้อม แต่โพสต์นี้ชักยาวเกินไปแล้ว ขอจบแค่นี้ก่อน มีเวลาจะมาเล่าต่อนะคะ ถ้าสนใจอยากรู้ พี่กล้วยหอมซึ่งเข้ารับการทดสอบเช่นกันได้เล่าไว้อย่างครบถ้วนแล้วที่นี่ เชิญตามไปอ่านกันได้ค่ะ
สนใจภาคอื่นๆ อ่าน:
ประสบการณ์เมื่อข้าพเจ้าไปทดสอบ VO2max (2)
สนใจการทดสอบความฟิตด้วยตัวเอง อ่าน:
นาฬิกาหา VO2max ได้ยังไง
ทดสอบความฟิตด้วย recovery heart rate
รีวิวนาฬิกา Wellograph
สนใจภาคอื่นๆ อ่าน:
ประสบการณ์เมื่อข้าพเจ้าไปทดสอบ VO2max (2)
สนใจการทดสอบความฟิตด้วยตัวเอง อ่าน:
นาฬิกาหา VO2max ได้ยังไง
ทดสอบความฟิตด้วย recovery heart rate
รีวิวนาฬิกา Wellograph
บทความนี้เยี่ยมสุดๆ เลย ตอบคำถามได้หมด ขอบคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ กรุณาถ่ายวิดีโอมาให้ดูอย่างชัดเจน
ReplyDeleteน้องพยาบาลมามุงดูหลายคนจัง ถ้าไปวิ่งเหลือแต่ sport bra คงเขินมากๆ หลับตาวิ่งดีกว่า ^^"
ขอบคุณค่ะหลิน ^ ^
Deleteซ้อมวิ่งหลับตาไว้ได้เลย เพราะผู้หญิงคนต่อไปที่มาทดสอบ ต้องโดนใส่สปอร์ตบราแน่นอนจ้ะ อิอิอิ
เอ้ย ดูวีดีโอแล้วยิ่งน่ากลัว เพราะดูเร็วมาก ๆ ไม่เคยกดสปีดขึ้นไปที่ 11.5 เลยค่ะ แต่ก็น่าลอง :)
ReplyDeleteใช้วิธีของน้องม้วนดูก็ได้ค่ะ น้องเค้านึกถึงสวนดอกไม้ ร่มรื่นสวยงาม
Deleteและคิดเสียว่า ทดสอบแค่ 12 นาที มันจะแค่ไหนกันเชียว เหนื่อยแป๊บเดียว เดี๋ยวจบแล้ว ไรงี้
แต่จริงๆ ก็ไม่น่ากลัวนะคะ
เพราะลู่วิ่งยาว ไม่ตกง่ายๆ และน้องพยาบาลคอยจับตาดูอาการเราตลอด
คุณฮั้วต้องทำได้ดีแน่ๆค่ะ
เมื่อวานลองวิ่งแบบ 10.5 .. เอ้ย ขาแถบปั่นไม่ทัน .. ยังนึกถึงคุณป้อมเลย .. ตาย ๆ เครื่องยิ่งร้อนช้าอยู่ด้วย
Deleteเย้ สมเป็นรีวิวฉบับของพี่
ReplyDeleteมีค่าอ้างอิงมาให้ดูด้วย
หนูได้ระดับ Good ด้วยค่ะ ดีใจจัง
(ดีใจกับพี่ด้วย Excellent เชียวน้า ^__^)
แอบขำพรืดตรงขำว่า "ชาวบ้าน"
5555+
มันน่าภูมิใจเนอะน้องม้วน
Deleteเทียบกับชาวบ้านก็ดีใจระดับหนึ่ง
แต่รู้สึกดีจริงๆ เมื่อเทียบกับตัวเราสมัยก่อน
ไม่เคยวิ่งสายพานเลย ดูคลิปแล้วกลัววิ่งตกสายพานจัง (คงอายน่าดู)
ReplyDeleteเครื่องวิ่งสายพานมีทั้งแบบสายพานแคบสั้น และสายพานกว้างยาวค่ะ ขึ้นกับราคา
Deleteถ้าจานเน็กจะลองครั้งแรก ก็ให้ลองกับเครื่องกว้างยาว จะได้มั่นใจ
แต่เท่าที่เห็นไม่มีใครเคยตกน้า แม้แต่อาม่าที่คอนโด อิอิอิ