Friday, November 7, 2014

วิ่งทันโลก 16: เพราะวิ่ง...เราจึงเป็นเช่นฉะนี้ ภาค 1 | 2 comments:

คอลัมน์วิ่งทันโลก
Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนกันยายน 2557
โดย oorrunningblog



เคยเป็นแบบนี้กันหรือเปล่าคะ วิ่งได้ไม่เท่าไหร่ก็เจ็บ วิ่งไกลหน่อยก็เจ็บ วิ่งมากหน่อยก็เจ็บ ถ้าไม่เจ็บแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เปลี่ยนจุดเจ็บจนทั่วตัวไปหมดแล้ว หรือบางคน ไม่ว่าจะวิ่งมากแค่ไหน วิ่งมานานหลายปีแค่ไหน ก็ยังต้วมเตี้ยมเตาะแตะเหมือนเดิม ได้แต่มองดูเพื่อนที่เริ่มวิ่งมาด้วยกัน หรือแม้แต่เพื่อนที่วิ่งหลังเราตั้งหลายปีทำสถิติใหม่กันโครม ๆ

เคยมีแว้บนึงในความคิดมั้ยคะ ที่บอกตัวเองด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า “พระเจ้าคงไม่ได้ให้เราเกิดมาเป็นนักวิ่งหรอก เลิกเถอะ ไปเอาดีทางอื่นเถอะ” วันนี้วิ่งทันโลกมีอะไรจะเล่าให้ฟัง ตามประสาคนหัวอกเดียวกันค่ะ ^ ^

ผู้อ่านบางคนอาจเคยได้ยินชื่อ ดร.แดเนียล ลีเบอร์แมน นักมานุษยวิทยาจาก ม. ฮาร์วาร์ด ที่โด่งดังจากงานวิจัยเรื่องการวิ่งเท้าเปล่ากันมาบ้างแล้วนะคะ อันที่จริงก่อนหน้านี้ เขากับ ดร. เดนิส แบรมเบิล นักชีววิทยาจาก ม. ยูทาห์ ได้ผลิตงานวิจัยว่าด้วยการวิ่งระยะไกลออกมามากมาย ทั้งหมดตอกย้ำแนวคิดที่ว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนเกิดมาพร้อมกับศักยภาพในการวิ่งระยะไกล 

เพราะวิ่ง เราจึงเป็นเช่นฉะนี้
Cr. paleoillustration




เรื่องที่วิ่งทันโลกจะเล่าให้ฟังในวันนี้ คืองานวิจัยอันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดดังกล่าว งานชิ้นนี้สร้างความแตกต่าง จนได้รับเลือกเป็นบทความเด่นประจำฉบับ ลงหน้าปกของวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอย่าง Nature กันเลยทีเดียว

โดยสรุป บทความนี้บอกเราว่า ที่มนุษย์มีวิวัฒนาการจนมีรูปร่างอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ เป็นเพราะความสามารถในการวิ่งระยะไกลของมนุษย์นั่นเอง ...โอ้ว!! นักวิ่งอย่างเราอ่านแล้วหัวใจพองโต เพราะนั่นแปลได้อีกมุมว่า ศักยภาพในการวิ่งระยะไกล ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเราทุกคนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตัวสั้น สะโพกใหญ่ แขนยาว ขาโก่ง ฯลฯ ...ตราบใดก็ตามที่คุณยังมีสปีชีส์เป็น Homo Sapien คุณก็เกิดมาเพื่อเป็นนักวิ่งทั้งนั้น ^___^

ก่อนที่จะเล่ารายละเอียดว่าเขาเขียนอะไรบ้าง ขอปูพื้นเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสักเล็กน้อยนะคะ วิวัฒนาการเป็นเรื่องที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีอยู่จริง ที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น ความแข็งแกร่งของแบคทีเรีย ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็พัฒนาตัวเองให้ทนต่อยาปฏิชีวนะบางสูตรได้ ทำให้ยาสูตรนั้นใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่โดยทั่วไป วิวัฒนาการต้องใช้เวลายาวนานเป็นหมื่นเป็นแสนปี ทำให้ไม่สามารถสังเกตและทดลองตามปกติได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีคาดเดาเมื่อมีหลักฐานรองรับเพียงพอแทน เช่นจากบันทึกโบราณหรือซากดึกดำบรรพ์ 

การคัดเลือกโดยธรรมชาติในบรรพบุรุษยีราฟ
cr. laevolucionbg

ทฤษฎีที่ใช้อธิบายกลไกของวิวัฒนาการมีอยู่มากมาย แต่ที่ยอมรับกันทั่วไปคือทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน แนวคิดหลัก ๆ ก็คือ สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันย่อมแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามธรรมชาติ แต่ตัวที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด โดยไม่จำเป็นต้องแข็งแรงที่สุด แต่ต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากที่สุด 

ยกตัวอย่างเช่น จากซากดึกดำบรรพ์พบว่ายีราฟคอสั้นกว่าในปัจจุบัน อธิบายตามทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติได้ว่า ในจำนวนยีราฟคอสั้นนั้น มียีราฟบางตัวที่แตกต่างออกไป นั่นคือ มันคอยาวกว่าชาวบ้าน และก่อนหน้านี้สภาพแวดล้อมอาจมีทั้งต้นไม้เตี้ยและต้นไม้สูง แต่ต่อมาสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เหลือแต่ต้นไม้สูง ๆ พวกยีราฟคอสั้นจึงอดตายหมดเพราะยืดคอไปไม่ถึงอาหาร เหลือแต่พวกคอยาวที่อยู่รอด สืบทอดลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน

ทีนี้มาเข้าเรื่องของเรากันได้แล้วค่ะ ^ ^ บทความนี้เสนอว่า บรรพบุรุษของมนุษย์วิวัฒนาการมาจากสัตว์ที่มีลักษณะเป็นลิงไร้หาง (Ape) สายพันธุ์ที่ชื่อ ออสตราโลพิเทคัส (Australopithecus) เมื่อ 2 ล้านปีที่แล้ว โดยธรรมชาติใช้ “ความสามารถในการวิ่งไกล” เป็นตัวคัดเลือกให้บรรพบุรุษของเรารอดชีวิตมาแพร่พันธุ์ต่อไป แบบเดียวกับที่ใช้ “ความคอยาว” เป็นตัวคัดเลือกบรรพบุรุษยีราฟยุคใหม่นั่นเอง 

ออสตราโลพิเทคัส
Australopithecus afarensis
Cr. wikipedia

ทำไมธรรมชาติจึงใช้หลักเกณฑ์นี้ ? นักวิจัยคาดเดาด้วยแนวคิดสองแบบที่รู้จักกันทั่วไปอยู่แล้วในขณะนั้น แนวคิดแรกคือ พวกเขาจำเป็นต้องวิ่งไล่ต้อนเหยื่อเป็นเวลานาน จนกว่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อจะเหนื่อยจนวิ่งต่อไม่ไหว จึงค่อยใช้ธนู ตาข่าย หอก ทำให้มันตายเพื่อเอามาเป็นอาหาร

อีกแนวคิดหนึ่งคือพวกเขาจำเป็นต้องวิ่งเป็นระยะทางไกล ๆ เพื่อค้นหาซากสัตว์มาเป็นอาหาร ในการนี้ แม้จะดมกลิ่นเน่าของซากศพสู้ไฮยีนาไม่ได้ บินสูงแล้วใช้สายตาอันแหลมคมมองลงมาหาสัตว์ใกล้ตายแบบแร้งไม่ได้ แต่พวกเขาใช้สมองที่มีขนาดใหญ่กว่าสัตว์ทั่วไปให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสังเกตว่าแร้งบินวนอยู่แถวไหน แล้วก็รีบวิ่งไปแถวนั้นแทน เจ๋งปะล่ะ!!

ตอนนี้ลองจินตนาการตามดูค่ะ ในทวีปแอฟริกาเมื่อ 2 ล้านปีก่อน มีออสตราโลพิเทคัสห้อยโหนกินผลไม้อย่างสุขใจ อยู่มาวันหนึ่งสภาพแวดล้อมก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จากป่าอุดมสมบูรณ์กลายเป็นทุ่งหญ้าแห้งแล้ง ออสตราโลพิเทคัสจึงจำเป็นต้องลงมาจากต้นไม้เพื่อหาอาหารอื่นกิน ตัวที่เดินสองขาไม่ได้ก็อดตายไปเป็นอันดับแรก เพราะการเดินสี่ขาตามประสาลิงนั้น ไม่สามารถเดินไป เงยหน้ามองนกแร้งบนฟ้าไปได้ จากนั้นตัวที่เดินสองขาเป็นแต่วิ่งไม่เป็นก็อดตายเป็นลำดับถัดไป เพราะแย่งเค้ากินไม่ทัน และสุดท้าย ตัวที่วิ่งเป็นแต่วิ่งได้แป๊บเดียวจอดก็อดตายเช่นกัน เพราะหากินได้เฉพาะซากสัตว์ที่อยู่ในระยะใกล้ๆ เท่านั้น

ออสตราโลพิเทคัส
Australopithecus
Cr. sikerado.hu

ด้วยเหตุนี้เอง ณ ทุ่งหญ้าสะวันนาอันไพศาล เมื่อ 2 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษของมนุษย์ที่วิ่งเป็นและวิ่งไกลได้เก่งกาจกว่าสัตว์ทั้งปวง จึงถือกำเนิดขึ้น !!

ฉบับหน้าเราจะมาดูกันต่อค่ะ ว่าหลักฐานอะไร ที่ทำให้ข้อสรุปของ ดร.แดเนียล และ ดร. เดนิส ได้รับการยอมรับ ประคองอารมณ์ฮึกเหิมนี้เอาไว้นะคะ แล้วเจอกัน ^ ^

ป.ล. เราเคยเขียนถึงงานวิจัยรุ่นหลังจากนี้ไว้ในบล็อกเรื่อง Are we born to run? หรือว่าพวกเราเกิดมาเพื่อวิ่ง? ถ้าอยากฮึกเหิมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตามไปอ่านกันที่ลิงค์ (ที่เป็นตัวอักษรสีส้ม) ได้เลยค่ะ

===============
วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)

2 comments:

  1. ข้อความย่อหน้าแรกมันกระแทกใจครับ อา..นี่มันผมชัดๆ

    ผมหัดวิ่งมากับรุ่นน้องอีก 2 คน ช่วงแรกๆ คนนึงพอๆกับผม อีกคนช้ากว่าผมประมาณ 10 นาที/10 K หลังจากเจ็บแล้วเจ็บเล่า ปวดหัวตัวร้อน ไอ ไข้หวัดรุม จนไม่เคยซ้อมได้เป็นชิ้นเป็นอัน เวลาผ่านมา 2 ปี น้องคนแรก วิ่ง pace 4 เป็น pace warm up/cool down ส่วนอีกคนก็ทิ้งผมห่างระดับ 10 นาที/ 10 K แทน

    ReplyDelete
    Replies
    1. เป็นเหมือนกันค่ะ จับมือๆ ^____^
      ด้วยความรู้ที่มี คงตอบได้เพียงว่า...จะเร็วได้ก็ต้องลงคอร์ต
      แต่จะลงคอร์ตได้ตลอดรอดฝั่งโดยไม่เจ็บหนักไปเสียก่อน ก็ต้องแกร่ง
      ถ้าอยากแกร่งก็ต้องเก็บไมล์ให้ได้เยอะๆ

      โค้ชตีตี้ โค้ชวิ่งระยะไกลของทีมชาติไทย เคยเล่าไว้ว่า
      ไมล์สะสมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ชี้เป็นชี้ตายเลยว่าใครจะแกร่ง
      บางคนที่เราเห็นว่า หัดวิ่งหลังเรา แต่ทำไมแกร่งกว่าเรา
      สืบค้นกลับไปได้เลย จะพบว่าในไมล์สะสมจากการวิ่งเล่น หรือเล่นกีฬาอื่นใด ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน มากกว่าเราแน่ๆ

      มามองตัวเอง ก็เห็นตามนั้นค่ะ
      เราเป็นเด็กที่เลิกเล่นสนามเด็กเล่น มาตั้งแต่ ป.3 แล้ว
      เอาเวลาพักเที่ยง เข้าห้องสมุด
      ...ได้อ่านหนังสือหมด shelf แต่เสียโอกาสสะสมไมล์
      ชีวิตก็ต้องมีการเลือก และการแลก เช่นนี้แล ^____^

      Delete

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...