Monday, September 2, 2013

วิ่งทันโลก 3: เทคโนโลยีการวัดระยะทางในงานวิ่ง | No comments:

คอลัมน์ วิ่งทันโลก
Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 2556
โดย oorrunningblog

จริงๆแล้วการวัดระยะสามารถทำได้หลายวิธี ถ้าเป็นระยะทางสั้นๆ ก็เอาตลับเมตรวัด หรือส่องด้วยกล้องวัดระดับแบบที่เห็นในงานโยธาทั้งหลาย แต่ถ้าเป็นระยะทางไกลๆเช่น 10 กม.หรือ 42.195 กม. แบบเส้นทางการวิ่งมาราธอนล่ะ ผู้จัดงานวิ่งจะใช้วิธีอะไร เพื่อให้แน่ใจว่าเส้นทางที่จัด มีระยะครบถ้วนถูกต้อง

ก่อนจะเล่าถึงวิธีของงานระดับอินเตอร์ ขอนำเสนอวิธีวัดระยะแบบต่างๆ ที่ชาวบ้านอย่างเราสามารถทำได้เองก่อน เรียงลำดับความคลาดเคลื่อนจากมากไปหาน้อย ดังนี้



เครื่องนับก้าว (pedometer) มีทั้งแบบที่เป็นเซ็นเซอร์วัดความสั่นสะเทือนแบบง่ายๆ และเป็นเซ็นเซอร์วัดความเร่งแบบซับซ้อน การใช้งานอาจหนีบไว้กับเอวกางเกง เหน็บกระเป๋ากางเกง ห้อยคอแทนจี้ ร้อยกับเชือกผูกรองเท้า หรือคาดข้อมือก็ได้แล้วแต่ชนิด แล้ววิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนด เครื่องจะคำนวณระยะทางจากจำนวนก้าวที่เครื่องนับได้ คูณด้วย ระยะก้าวของผู้ใช้ หรือในกรณีเครื่องที่ซับซ้อน จะคำนวณจากความเร่งที่วัดได้จากแกน x-y-z วิธีนี้มีความคลาดเคลื่อน +/- 10% ขึ้นกับความฉลาดของเครื่อง ตำแหน่งที่ติดตั้ง และเราวิ่งด้วยระยะก้าวที่สม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน

อ่านเรื่อง pedometer อย่างละเอียดได้ที่โพสต์ วิ่งทันโลก 34: ทุกสิ่งที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับ Pedometer

pedometer เครื่องนับก้าว

อุปกรณ์จีพีเอส เมื่อผู้ใช้ถือหรือติดเครื่องนี้ไว้กับตัวแล้ววิ่ง เครื่องจะรับค่าพิกัดของตัวมันเอง ณ เวลาต่างๆจากดาวเทียมแล้วนำมาคำนวณเป็นระยะทาง ความแม่นยำจึงขึ้นกับความชัดเจนของสัญญาณจากดาวเทียม ดังนั้นในเส้นทางที่มีตึกสูงบัง อยู่ใต้ทางด่วน หรือในวันที่มีเมฆมาก ค่าระยะทางที่วัดได้จึงมีคลาดเคลื่อนสูง อย่างไรก็ตาม ในภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะสม วิธีนี้จะมีความคลาดเคลื่อนประมาณ +/- 4% ขึ้นกับคุณภาพของอุปกรณ์

นาฬิกาจีพีเอส GPS

อุปกรณ์วัดระยะแบบติดรองเท้า (foot pod) เป็น pedometer แบบซับซ้อนที่ใช้เซ็นเซอร์วัดความเร่งเมื่อนำมาติดรองเท้าแล้ววิ่ง ไม่ว่าระยะก้าวของเราจะเป็นเท่าไหร่ เซ็นเซอร์จะสามารถคำนวณระยะทางก้าวต่อก้าวของเราได้ เมื่อนำมารวมกันก็จะได้ระยะทางทั้งหมด ทั้งนี้ความถูกต้องขึ้นอยู่กับระดับของเทคโนโลยีที่นำมาทำเซ็นเซอร์และการสอบเทียบก่อนใช้งาน ความคลาดเคลื่อนโดยรวมประมาณ +/- 2%

อ่านหลักการทำงานของ foot pod เพิ่มเติมได้ ที่นี่

foot pod เครื่องวัดระยะทางแบบติดรองเท้า

จะเห็นว่าอุปกรณ์จีพีเอสหรือฟุตพ็อต ก็ให้ความแม่นยำในระดับที่พอยอมรับได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันระดับมาตรฐานโลกเช่นงานวิ่งมาราธอนที่ได้รับการรับรองโดย AIMS (Association of International Marathons and Distance Races) การวัดระยะทางจะทำโดยวิธีที่มีความแม่นยำสูงสุดที่เรียกว่า calibrated bicycle method ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนในระดับ +/- 0.1% หรือเทียบเท่ากับระยะ 42 เมตรเท่านั้นในเส้นทางการแข่งขันมาราธอน!!

อ่านรายละเอียดเรื่องเกี่ยวกับวิธีวัดระยะทางแบบ calibrated bicycle method ได้ที่โพสต์
วิ่งทันโลก 29: การวัดระยะทางในงานวิ่งด้วยวิธี Calibrated Bicycle
วิธีนี้ต้องใช้ร่วมกับเครื่องนับรอบที่เรียกว่า Jones Counter (JC) โดยการใช้งาน จะติดตั้งอุปกรณ์นี้ไว้กับล้อหน้าของจักรยาน ให้ผู้ขี่สามารถมองเห็นตัวเลขได้ ที่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมนี้เป็นเพราะ JC มีเฟืองเล็กกว่าจึงแสดงรอบได้ละเอียดกว่า สามารถบอกระยะได้แม่นยำกว่าการนับรอบจากวงล้อจักรยานโดยตรง

Jones Counter (JC) สำหรับใช้วัดระยะทางด้วยวิธี calibrated bicycle method

ลำดับแรกต้องสอบเทียบโดยการขี่จักรยานไปตามเส้นทางที่รู้ระยะถูกต้องแน่นอน (วัดโดยสายวัด) เพื่อดูว่าใน 1 กม. JC นับได้กี่รอบ เช่นสมมุติว่าได้ 10500 รอบ เมื่อนำไปใช้งานจริงก็เพียงแต่เทียบบัญญัติไตรยางศ์กลับ เช่น ถ้าต้องการระยะทาง 10 กม. ก็ต้องขี่จักรยานไป จนอ่านเลขบน JC ได้ 105,000 เป็นต้น


รู้เช่นนี้แล้ว เพื่อนนักวิ่งก็มั่นใจได้เลยว่า เมื่อลงแข่งขันในงานที่รับรองโดย AIMS แล้ว จะไม่ต้องเจอเหตุการณ์ระยะขาด ระยะแถมอย่างแน่นอน

เอกสารอ้างอิง
http://aimsworldrunning.com/course_measurement.htm
http://www.goodrunguide.co.uk/MeasuringRoutes.asp

หมายเหตุ
ยังมีวิธีวัดระยะทางวิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้เขียนรวมไว้ในบทความเพราะเนื้อที่ไม่พอ เราได้เขียนแยกไว้ต่างหากใน blog แล้วค่ะ นั่นคือ การวัดระยะโดยใช้ google map นั่นเอง

========================================
ทดลองอ่านนิตยสาร Thai Jogging Magazine ฉบับย้อนหลัง

วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 200บาท (12ฉบับ)

No comments:

Post a Comment

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...