Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558
โดย oorrunningblog
เข้าเดือนที่สองของปี 2015 แล้ว หวังว่าคงยังไม่สายเกินไปนะคะถ้าวิ่งทันโลกจะนำเสนอที่สุดแห่งปี 2014 ของวงการวิ่งมาราธอน การจัดอันดับนี้อ้างอิงจากการคัดสรรโดยนิตยสาร Runner’s World ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นถ้ามีสาขาใดที่ผู้ชนะขัดแย้งกับความรู้สึกของท่านผู้อ่าน ก็ไปกระชากมงฯจากฝรั่งเอาเองนะคะ ข้าพเจ้าไม่เกี่ยว 555+ เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
1) นักวิ่งแห่งปี: เม็บ เคเฟลซิกี (MEB KEFLEZIGHI)
BIB ของ MEB ในบอสตันมาราธอน 2014 |
เม็บได้รับตำแหน่งนี้ไป จากการเป็นชาวอเมริกันคนแรกในรอบ 31 ปีที่ได้แชมป์บอสตันมาราธอน และเวลา 2:08:37 ชั่วโมงที่ทำได้กลายเป็น new PB ของเขา (อย่าลืมว่าเม็บอายุ 39 ปี) ที่น่าประทับใจที่สุดคือ เม็บได้เขียนชื่อผู้เสียชีวิตทั้งสี่คนจากเหตุการณ์ระเบิดในบอสตันมาราธอนปี 2013 นั่นคือ Martin Krystle Sean และ Lingzi ไว้ที่แต่ละมุมของเบอร์ติดหน้าอกด้วย
เหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่สุดของเขา เพราะในวันนั้นเม็บ ภรรยาและลูกสาว เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ชมที่ยืนเชียร์อยู่ข้างทางเช่นกัน เขาอยากแสดงให้เห็นว่าการก่อการร้ายไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณของบอสตันมาราธอนและของนักวิ่งอเมริกันอย่างเขาได้ เม็บเล่าว่านอกจากการฝึกซ้อมแล้วเขายังอ่านหนังสือชื่อ Marathon Man ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของ บิล ร็อดเจอร์ส แชมป์บอสตันฯ 4 สมัยชาวอเมริกันทุกวัน เพื่อจินตนาการภาพการคว้าแชมป์บอสตันมาราธอนไว้ในหัว (Visualization) มาตลอดเวลาหนึ่งปี
“ก่อนหน้านี้ตำแหน่งแชมป์นิวยอร์คซิตี้มาราธอนและเหรียญเงินมาราธอนจากโอลิมปิค 2004 ทำให้อาชีพนักวิ่งของผมประสบความสำเร็จไปแล้ว 99.9% แต่การได้แชมป์บอสตันมาราธอนเติมเต็มมันให้เป็น 110% นี่คือชิ้นส่วนที่หายไป ถ้วยใบนี้เป็นยิ่งกว่าฝันของผมเลยทีเดียว”
2) นักวิ่งสุดยอดสปิริตแห่งปี: ชาเลน ฟลานาแกน (SHALANE FLANAGAN)
ชาเลน ฟลานาแกน ในบอสตัน 2014 |
ปีที่แล้วชาเลนตั้งเป้าหมายในการวิ่งไว้ 2 เรื่อง แม้จะพลาดเป้าแต่สปิริตของเธอทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใกล้เคียงคำว่าล้มเหลวเลย เป้าหมายทั้งสองคือ แชมป์บอสตันมาราธอนและทำลายสถิติมาราธอนตลอดกาลของผู้หญิงอเมริกัน
ในการแข่งขันบอสตันมาราธอน ฮีโร่สาวชาวอเมริกันคนนี้ขึ้นนำตั้งแต่ออกสตาร์ทจนถึง 20 ไมล์ ด้วยเพซสุดโหดที่มีส่วนลากให้ผู้นำทั้งกลุ่ม รวมทั้ง ริตา เจ็ปตู (Rita Jeptoo) ผู้ชนะฝ่ายหญิงทำสถิติสนามได้ในที่สุด (ในภายหลังริตาตรวจโด๊ปไม่ผ่าน) แม้ชาเลนจะช้าลงหลังจากนั้นแต่เธอก็ไม่หมดกำลังใจ ในที่สุดก็เข้าเส้นชัยเป็นอันดับเจ็ด ด้วยสถิติ 2:22:02 ชั่วโมงที่กลายเป็น new PB ของเธอ เร็วกว่าเดิม 3:36 นาที!! นอกจากนี้ยังเป็นสถิติที่ดีที่สุดของบอสตันมาราธอนในบรรดานักวิ่งหญิงอเมริกันอีกด้วย
เป้าหมายถัดมาคือทำลายสถิติมาราธอนตลอดกาลของผู้หญิงอเมริกัน ชาเลนต้องการทำลายสถิติ 2:19:36 ที่ เดนา คาสเตอร์ เป็นเจ้าของอยู่ ด้วยการลงแข่งเบอร์ลินมาราธอน สนามแข่งที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการทำสถิติได้ดีที่สุด โจทย์คือ เธอต้องทำเวลาให้ดีกว่า PB เดิมที่เพิ่งได้มาในบอสตัน 3 นาที แล้วก็เช่นเดิม ชาเลนออกตัวอย่างสวยงามจนถึงกิโลเมตรที่ 25 เวลาดีขนาดที่เป็นสถิติใหม่ 25K ของหญิงอเมริกันเลย หลังจากนั้นเธอก็ช้าลงแต่ยังสามารถเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2:21:14 ชั่วโมงซึ่งเป็น new PB อีกครั้ง!! แม้จะไม่ทำลายสถิติของเดน่าอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ทำให้เธอขยับอันดับในตาราง “ผู้หญิงอเมริกันที่วิ่งมาราธอนเร็วที่สุดตลอดกาล” จากที่สามมาเป็นที่สองได้
นี่แหละผลของสุภาษิตฝรั่งที่ว่า “Always aim for the moon, even if you miss, you'll land among the stars”
3) สถิติแห่งปี: เดนนิส คิเมตโต (DENNIS KIMETTO)
เดนนิส คิเมตโต ในเบอร์ลินมาราธอน |
แน่นอน ต้องเป็นสถิติโลกระยะมาราธอนตัวล่าสุด 2:02:57 ชั่วโมงที่ เดนนิส คิเมตโต นักวิ่งชาวเคนยาทำไว้ในเบอร์ลินมาราธอนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เวลานี้เร็วกว่าสถิติโลกเดิมที่ วิลสัน คิปแซง ทำไว้ 26 วินาที จุดกระแสความหวังที่จะได้เห็น “มาราธอน sub 2” ในเวลาอันใกล้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
4) สถิตินอกสายตาแห่งปี
โม ฟาราห์ ทำสถิติวิ่งกระสอบ 100 เมตร |
สถิติแรกเป็นของคุณยายทวด แฮร์เรียต ทอมป์สัน วัย 91 ที่จบซานดิเอโกมาราธอนด้วยเวลา 7:07:42 ชั่วโมง!! ถือเป็นสถิติโลกของผู้หญิงกลุ่มอายุ 90 ปีขึ้นไปตัวล่าสุด ปัจจุบันงานวิ่งในเมืองไทยระยะมาราธอนจัดกลุ่มอายุของผู้หญิงไว้สูงสุดที่ 60+ และผู้ชายสูงสุดไว้ที่ 70+ ด้วยสมมุติฐานว่าคนที่ยังวิ่งไหวก็คงมีแต่คุณยายอายุ 60 ต้นๆ และคุณตาอายุ 70 ต้นๆ นั่นแล แต่ผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นานจะมีคุณตาคุณยายผู้ทันสมัย ถูกลูกหลานชักจูงเข้าสู่วงการวิ่งมากขึ้น และเมื่อถึงวันนั้นเราอาจมีคุณยายทวดชาวไทยเป็นเจ้าของสถิติแทนคุณทวดแฮร์เรียตก็ได้ ใครจะรู้ ^ ^
ในปีที่แล้วยังมีสถิตินอกสายตาที่ชวนให้อ้าปากค้างอีกหลายตัว อาทิเช่น ไทเลอร์ แอนดรู ที่ทำลายสถิติโลกระยะฮาล์ฟมาราธอนบนลู่วิ่งสายพาน ด้วยเวลา 1:07 ชั่วโมง ในขณะที่ ฟิล แอนโทนี สร้างสถิติแรกสำหรับการวิ่ง 100 กิโลเมตรบนลู่วิ่งสายพาน ด้วยเวลา 6:40:45 ชั่วโมง และสุดท้าย ใครเลยจะเชื่อว่า เกมที่เราเคยเล่นกันในกีฬาสีสมัยประถมอย่างวิ่งกระสอบระยะ 100 เมตร (ซึ่งถ้าจำกันได้-กติกาให้วิ่งหรือกระโดดก็ได้ แต่คนชนะมักเป็นคนที่กระโดด) ก็มีการบันทึกสถิติโลกกับเค้าด้วยโดยกินเนสบุ๊ก และที่เหลือเชื่อกว่าก็คือ เจ้าของสถิติโลกบ้าๆบอๆนี้คือ โม ฟาราห์ เจ้าของสองเหรียญทองวิ่งระยะไกลในโอลิมปิกนั่นเอง ทำเวลาไป 39.91 วินาที กีฬาสีครั้งหน้าลองจับเวลาดูนะคะ ถ้าได้สถิติดีกว่านี้ก็ติดต่อกินเนสบุ๊กมาทำข่าวได้เลย ^ ^
5) เทรนด์ใหม่แห่งปี: ปั่นไปวิ่ง (และปั่นกลับ)
ที่จอดจักรยานในงานแข่งวิ่ง |
รู้กันอยู่แล้วว่าที่เมืองนอก การขี่จักรยานปลอดภัยกว่าเมืองไทย ดังนั้นในบางเมืองเช่นซานฟรานซิสโก คนจึงขี่จักรยานไปทำงานหรือเพื่อเดินทางกันอยู่แล้วตามปกติ นี่เองจึงเป็นที่มาของแนวคิดทำที่จอดจักรยานที่ปลอดภัยสำหรับคนมางานวิ่ง ซานฟรานซิสโกมาราธอนจัดเป็นหนึ่งในงานวิ่งเจ้าแรกๆ ที่เริ่มมีบริการนี้มาตั้งแต่ปี 2008
การปั่นไปและกลับจากงานวิ่งมีประโยชน์หลายสถาน ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่สร้างมลพิษ ช่วยบรรเทารถติดตอนขากลับ เพราะโดยมากนักวิ่งจะกลับพร้อมๆกัน ถ้างานใหญ่แต่ถนนคับแคบอาจติดยาวเป็นกิโล และสุดท้ายดีต่อขาของคุณ เพราะถ้าระยะทางไม่ไกลนัก การได้ปั่นกลับบ้านก็ถือว่าเป็นการ recovery อย่างหนึ่งเหมือนกัน
ในปีที่ผ่านมา งานวิ่งในสหรัฐอเมริกาเริ่มหันมาให้บริการที่จอดรถจักรยานฟรีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระแส ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าผู้จัดงานวิ่งในเมืองไทยจะอ่านเจอและรับไว้พิจารณาบ้าง โดยเฉพาะงานวิ่งที่รณรงค์เรื่อง Green Runner แม้การขี่จักรยานในเมืองไทยจะยังไม่สะดวกสบายเท่าเมืองนอก แต่ถ้ามีจุดจอดที่ปลอดภัย มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เราเชื่อว่ามีนักวิ่งไปใช้บริการแน่นอน เพราะปัจจุบันนี้เพื่อนนักวิ่งที่รู้จักหลายคนก็ปั่นจักรยานไปงานวิ่งกันอยู่แล้ว ไกลขนาดเพชรบูรณ์หรือราชบุรีก็ไม่มีปัญหา ...ผ่านมาราธอนมาแล้ว อะไรๆ ก็ง่ายไปหมดแล้วล่ะ ^ ^
โพสต์ที่เกี่ยวข้อง
มาเป็นนักวิ่งรักษ์โลกกันเถอะ
ปั่นไปวิ่งไป 1: สวนผึ้ง
ปั่นไปวิ่งไป 2: เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พิษณุโลก
ปั่นไปวิ่งไป 3: พุทธมณฑล
ที่มา
The Year in Running: 2014
More Races Offering Bike Valet Service
==============
วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)
No comments:
Post a Comment
*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************