สนามนี้อยู่ในโตเกียวค่ะ มาได้จากหลายทาง แต่เนื่องจากเรามี JR PASS ที่ขึ้นรถไฟของค่าย JR โดยไม่ต้องเสียตังค์อีก (เพราะซื้อเหมาไปแล้ว) เลยเลือกที่จะขึ้นรถไฟ JR Yamanote Line มาลงที่สถานี Yoyogi แล้วต่อ Chuo/Sobu Line อีกแค่ 2 สถานีมาลงที่ Shinanomachi ลงปุ๊บก็เห็นสัญลักษณ์นี้ที่ชานชลาเลย เดาว่าคงบอกให้รู้ว่าสถานีนี้อยู่ใกล้สนามเบสบอลกระมัง (ในใจคิดว่า มาถูกทางแล้วเรา ^ ^)
จำไม่ได้แล้วว่ามีทางออกกี่ทาง น่าจะทางเดียวเพราะเป็นสถานีเล็กๆ ก่อนออกอย่าลืม stamp สัญญลักษณ์สถานีลงบนหนังสือด้วยนะ เป็นรูปตึก Meiji Memorial Picture Gallery ที่่จัดแสดงภาพวาดว่าด้วยการปกครอง วัฒนธรรม ธรรมเนียมประเพณี เหตุการณ์สำคัญตั้งแต่เริ่มจนถึงสิ้นสุดยุคของจักรพรรดิเมจิ (2410-2455) แกลอรี่นี้อยู่บริเวณเดียวกับสนามซ้อมของมูราคามินี่แหละ น่าเสียดายที่เราไปวันปีใหม่ เค้าปิดทำการพอดี
ไปกันต่อค่ะ อันนี้คือรูปที่ทางออก ไปตามลูกศรเฉียงซ้ายโลด (เขียนว่า To Jingu Stadium)
ออกมาจะเจอสะพานลอย ข้ามโลด
ลงสะพานลอยเจอตึกทางซ้ายมือ (ในรูปด้านบนก็เห็น) เป็นกลุ่มร้านอาหาร จะเห็นทางลอดอาคาร ลอดโลด
ลอดออกมาเห็นวิวแบบนี้
มูราคามิซ้อมวิ่งรอบสนามล้อมรั้วไม้ที่เห็นในรูปนั่นแล ข้ามถนนไปกันเล้ย
มีคนวิ่งกันจริงๆ ด้วยเว้ยเฮ้ย (แอบลุ้นว่าจะเจอเฮียมั้ย ^ ^) ถนนลาดยางเรียบกริบดำปื๋อตามสไตล์ถนนญี่ปุ่น ชวนให้นึกว่าเพิ่งทำเสร็จ ต้องนิ่มเท้าแน่เลย เอาเข้าจริง...แข็งแฮะ...คุณหลอกดาว แต่ด้วยความร่มรื่นของสวน ใบไม้ที่บางต้นยังเปลี่ยนสีไม่เสร็จ ดอกไม้ที่บรรจงปลูกเป็นรั้ว ก็ชดเชยความแข็งของพื้นถนนไปได้
ที่พื้นถนนมีป้ายบอกระยะทางแบบเกร๋ๆ ทุก 100 เมตร รอบนึงมีระยะ 1,325 เมตร ตามที่เฮียมูเขียนไว้ในหนังสือเลย
ในหนังสือมีพูดถึง "สนามกีฬาจิงงุ" ไว้ด้วย น่าจะเป็นตึกมุมขวาในรูปด้านล่างนี่แหละ สนามเบสบอล Meiji-Jingu สนามเหย้าของทีม Tokyo Yakult Swallows ในรูปมีนักเบสบอลมาวิ่งวอร์มด้วย ^ ^
ปล. เห็นรูปนี้แล้วนึกถึงท่อนนึงของหนังสือที่เราชอบมาก เฮียเขียนถึงเพื่อนร่วมสนามซ้อมสองคน ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ไว้ว่า
แม้แต่ตอนนี้ ในยามที่ผมวิ่งรอบจิงงุ ไงเอ็น หรือพระราชวังอะกาซากะ ในบางคราว ผมคิดถึงนักวิ่งทั้งสอง ผมวิ่งอ้อมหัวโค้ง และรู้สึกว่าผมควรได้เห็นพวกเขาวิ่งสวนทางมา วิ่งเงียบงัน ลมหายใจเป็นพวยขาวในอากาศรุ่งสาง ความคิดเดิมผุดเข้ามาในหัวอีกครั้ง พวกเขาฝึกซ้อมกันอย่างหนัก ความคิดความหวังและความฝันของพวกเขาหายไปที่ไหนกัน? ในยามที่่คนเราตายไป เป็นไปได้หรือว่าความคิดทั้งมวลจะเลือนลับตามไปด้วย?
เกร็ดอีกอย่างของสนามเบสบอลแห่งนี้ก็คือ นี่เป็นสถานที่ที่มูราคามิเกิดความคิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกว่าอยากเขียนนิยาย ทั้งที่ตอนนั้นอาชีพที่เขาทำคือเจ้าของบาร์แจส ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับการเป็นนักเขียนเลย
ผมระบุเวลาเฉพาะเจาะจงได้ ในตอนที่ผมอยากเขียนนิยาย เวลาราวบ่ายโมงครึ่ง วันที 1 เมษายน 1978 ผมอยู่ที่สนามจิงงุ ผมอยู่ตามลำพัง ปลายสนามเขตเอาต์ฟิลด์ [...] ฮิลตันวิ่งผ่านเบสหนึ่ง มุ่งหน้ามายังเบสสอง วินาทีนั้นเอง ความคิดวาบเข้ามาในหัว เออนะ, ข้าพเจ้าน่าจะลองเขียนนิยาย! ผมยังจำฟ้าสีครามสดใสได้ สัมผัสอ่อนนุ่มของหญ้าอ่อน และเสียงเสนาะของไม้กระทบลูก อะไรสักอย่างหล่นปุลงมาจากท้องฟ้า จะเป็นอะไรก็ช่าง ผมอ้าแขนรับ
สรุปให้ดูในแผนที่ดังนี้ สถานี Shinanomachi อยู่มุมซ้ายล่าง จะเห็นสะพานลอย และตึกสีแดง ซึ่งก็คือตึกที่เราลอดมา สนามซ้อมมูราคามิคือถนนรอบนอกของสวนที่เห็นกลางแผนที่นั่นเอง ในสวนมีแกลเลอรี่ Meiji Memorial Picture Gallery มุมบนขวาของสวนคือสนามเบสบอล
คลิกที่รูปเพื่อขยาย |
ถ้าใครได้มาในช่วงใบไม้เปลี่ยนสี วิ่งรอบสนามเสร็จแล้วอย่าลืมไปชมถนนแปะก๊วยด้วยนะคะ (ถนนเส้นบนสุดในแผนที่ ที่มีจุดกลมๆ สีทองตามรายทาง) ถนนเส้นนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ชมใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยที่สุดของญี่ปุ่นเลยทีเดียว น่าเสียดายที่เราไปหน้าหนาว ต้นแปะก๊วยโกร๋นหมดแล้ว > <
Cr. Namjai Blog Portal |
เดินรอบสนาม เก็บไว้ประดับ running log ก็เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจแระ ขอลาไปด้วย Suunto Movie อันนี้ละกันค่ะ
ที่มาของข้อความในหนังสือ
เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 สนพ.กำมะหยี่ แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์
เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 สนพ.กำมะหยี่ แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์
นึกว่าคุณป้อมไปซ้อมวิ่งที่ฮาวายซะแล้ว อิอิ. แต่เล่มนี้ที่ผมชอบ เป็นตอนที่แกไปวิ่งตามรอยโอลิมปิคนะครับ แกบรรยายได้แบบไม่บิ้วดี. แบบ ไม่มีร่องรอยน่าประทับใจ ร้อน และ ขี้หมาข้างทาง รถวิ่งอย่างไว 555
ReplyDelete555+ ถ้าได้ไปก็ไม่พลาดค่ะ อยากเก็บให้หมด
Deleteอ่านจบนี่หาข้อมูล Saroma Lake 100K เลยนะ
พอเห็น Cutoff Time 13 ชม. นี่สตั๊นท์แพ้พพพ
คงต้องรอให้มาราธอน Sub4 ก่อนถึงจะกล้าฝัน
ชอบตรงวิ่งตามรอยมาราธอนเหมือนกันค่ะ อยากอ่านนิตยสารที่แกเขียนไปลงเล่มนั้น (เอ๊ะหรือเป็นวิดีโอสารคดีการท่องเที่ยว จำไม่ได้แล้วว่าเขียนว่ายังไง) ท่าจะแซ่บ ^ ^
Deleteผมหา What I Talk about when I talk about running ของมูราคามิมาอ่าน เพราะอ่านโพสต์ Blog นี่นี่แหละ ซื้อมาพร้อมกับ "เย็นวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์" อ่านรวดเดียวจบทั้งสองเล่ม
ReplyDeleteผมชอบ "เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง" มากกว่า และต้องให้เครดิตคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ผู้แปลด้วย หลังจากอ่านงานของคุณมูราคามิเล่มนี้แล้ว ผมเพิ่งจะสั่งซื้อนวนิยายของแกมาอ่านอีกเล่ม