Friday, August 5, 2016

วิ่งทันโลก 35: วิธีจับเวลาสำหรับงานวิ่ง | No comments:

คอลัมน์วิ่งทันโลก
Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 2559
โดย oorrunningblog


ฉบับนี้วิ่งทันโลกขอเล่าเรื่องใกล้ตัวเพื่อนนักวิ่งทุกคนกันบ้างนะคะ เชื่อว่าทุกคนที่ไปงานวิ่งคงเคยได้ใช้อุปกรณ์หรือใช้บริการเหล่านี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แต่อาจไม่รู้ลึกๆ ว่ามันคืออะไรและทำงานอย่างไร วันนี้จะได้รู้กันกระจ่างแน่นอนค่ะ ตามกติกาของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF - International Association of Athletics Federations) แบ่งการจับเวลาไว้เป็น 3 วิธีหลักดังนี้

1) วิธีจดด้วยมือ

นาฬิกาจับเวลางานวิ่ง
นาฬิกาจับเวลา Cr. womensrunning.competitor.com


วิธีแบบบ้านๆ ที่สุด แต่เชื่อถือได้มากที่สุดในกรณีที่มีผู้เข้าแข่งขันจำนวนไม่มาก โดยจะมีคนทำหน้าที่จับเวลาอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งถือนาฬิกาจับเวลาแล้วคอยขานเวลาของนักวิ่งทุกคนที่ข้ามเส้นชัยเข้ามา อีกคนหนึ่งทำหน้าที่จดเวลาที่ขานนี้ลงไปในใบรายงานเวลาที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า ถามว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าสถิติที่จดลงไปนี้เป็นของใคร? ตอบว่า โดยทั่วไปคนขานเวลาก็จะขานหมายเลขติดหน้าอกพร้อมกันไปด้วยเลย 

วิธีนี้เหมาะสมกับการแข่งขันขนาดเล็ก ที่มีนักวิ่งหลักสิบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม IAAF แนะนำให้ใช้การจับเวลาแบบนี้เป็นวิธีเสริมเพื่อจับเวลานักวิ่งกลุ่ม over all ไม่ว่าการแข่งขันนั้นจะมีจำนวนผู้เข้าแข่งขันมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

2) วิธีบันทึกเวลาด้วยเครื่องพิมพ์ (Manual printer-timers)


นาฬิกาจับเวลาแบบพิมพ์เวลาได้
นาฬิกาจับเวลาแบบพิมพ์เวลาได้ Cr. everythingtrackandfield.com

คล้ายกับวิธีแรกแต่สะดวกกว่าเพราะไม่ต้องจดเวลาเอง แค่กดปุ่มทุกครั้งที่มีนักวิ่งผ่านเส้นชัย เครื่องพิมพ์ที่ต่ออยู่กับนาฬิกาจับเวลาก็จะพิมพ์เวลาเข้าเส้นชัยเรียงเป็นแถวลงมาเรื่อยๆ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าสถิติไหนเป็นของใคร? โดยทั่วไปจะให้นักวิ่งเข้าแถวเรียงตามลำดับการเข้าเส้นชัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่จับคู่หมายเลขติดหน้าอกกับลำดับที่พิมพ์ออกมาอีกทีหนึ่ง 

จะเห็นว่าการจับคู่เช่นนี้ถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่ยอมเข้าแถว เวลากับลำดับของคนที่อยู่หลังจากนั้นจะผิดไปหมด เหมือนเวลาเราติดกระดุมผิด ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องอยู่เป็นระยะ โดยสุ่มเลือกนักวิ่งที่ข้ามเส้นชัยเข้ามาคนหนึ่งแล้วจดหมายเลขติดหน้าอกของเขาไว้คู่กับเวลาที่พิมพ์ออกมา เพื่อตรวจสอบว่าตอนนี้ทั้งสองบัญชียังสอดคล้องกันอยู่หรือไม่ แม้จะยุ่งยากอยู่บ้าง แต่วิธีนี้ก็ใช้ได้กับงานที่มีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก โดยผู้เข้าแข่งขันอาจมีถึงหลักร้อยเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับสเปคของเครื่อง

3) วิธีบันทึกเวลาแบบอุปกรณ์ไร้สาย (Transponder) หรือที่เราเรียกกันว่า ชิปจับเวลา นั่นเอง


ขั้นตอนของวิธีนี้เริ่มตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน โดยผู้จัดจะจับคู่ข้อมูลที่เรากรอกในใบสมัคร อันได้แก่ชื่อ-นามสกุล เพศ รุ่นอายุ ไว้กับรหัสของชิปตัวหนึ่ง จากนั้นตอนไปรับหมายเลขติดหน้าอก เราก็จะได้ชิปนั้นมาพร้อมกับ Race Kit หรือชิปบางประเภทที่มีลักษณะเหมือนชิปในสมาร์ทการ์ดก็อาจแปะไว้หลังหมายเลขติดหน้าอกเลยก็ได้

ชิปจับเวลาแบบแปะหลังหมายเลขติดหน้าอก
ชิปจับเวลาแบบแปะหลังหมายเลขติดหน้าอก Cr. raceresult.com


ในวันแข่งขัน เราก็มีหน้าที่เอาชิปนั้นร้อยเชือกผูกรองเท้า หรือถ้าเป็นแบบแปะหลังหมายเลขติดหน้าอก ก็ต้องดูให้แน่ใจว่าได้ติดหมายเลขไว้ที่หน้าอก (ลำตัวด้านหน้า) จริงๆ (แม้ชิปบางยี่ห้อจะสามารถติดไว้ด้านหลังหรือด้านข้างได้ ขึ้นกับการออกแบบ แต่เพื่อความมั่นใจ ติดไว้ด้านหน้าลำตัวจะอุ่นใจกว่า)

อุปกรณ์ที่สำคัญอีก 2 อย่างของวิธีนี้คือ สายอากาศและตัวประมวลผล โดยอุปกรณ์ทั้งสองจะตั้งไว้คู่กันเสมอ ที่เส้นชัยและจุดที่ต้องการตรวจสอบเวลาหรือป้องกันการลัดเส้นทาง เช่นจุดกลับตัวหรือจุดที่วิ่งครบระยะสำคัญๆ 

สายอากาศและตัวประมวลผลชิปจับเวลา
สายอากาศฝังไว้ใต้แท่นอลูมิเนียม ตั้งคู่กับตัวประมวลผลในกล่องสีส้ม Cr. dndproduction.com


สายอากาศอาจฝังไว้ในพรมยางหรือแท่นอลูมิเนียมที่ปูไว้บนพื้นถนน ในเสาที่ปักไว้ข้างทางวิ่งหน้าตาเหมือนเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือบนตึกสูง (ผู้เขียนเห็นแบบนี้ที่งานสิงคโปร์มาราธอน) หรือในแผงสีขาวที่อยู่เหนือซุ้มปล่อยตัวก็ได้แล้วแต่การออกแบบ อุปกรณ์นี้มีหน้าที่สร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นมาในบริเวณนั้น เมื่อเราเหยียบพรมหรือแท่นหรือเข้าใกล้เสามากพอ ชิปที่ติดอยู่กับตัวเราก็จะถูกเหนี่ยวนำให้ส่งสัญญาณที่มีรูปแบบเฉพาะตัวออกมา สายอากาศก็จะทำหน้าที่อีกอย่างคือรับสัญญาณนี้ไป แล้วส่งให้ตัวประมวลผล

ตัวประมวลผลโดยทั่วไปที่ผู้เขียนเคยเห็นมีลักษณะเป็นกล่องสีเหลืองหรือเทา วางไว้ข้างทางคู่กับสายอากาศ ในกล่องจะมีแบตเตอรี่เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับสายอากาศ และมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อประมวลว่าสัญญาณที่ได้รับมามีรหัสอะไร แล้วส่งสัญญานนั้นแบบไร้สายไปที่คอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เพื่อบันทึกเวลาที่ได้รับรหัสนั้นไว้

เสาอากาศ
สายอากาศแบบฝังในเสา  Cr. dndproduction.com

เมื่อนำเวลาของชิปตัวใดตัวหนึ่งที่บันทึกไว้ตอนเข้าเส้นชัยลบด้วยเวลาที่บันทึกไว้ตอนผ่านจุดปล่อยตัว ก็จะได้ “เวลาสุทธิ” (Net Time) หรือสถิติส่วนตัวของนักวิ่งที่สวมใส่ชิปนั้นนั่นเอง เวลาที่จุดสำคัญต่างๆ ก็หาได้ในลักษณะเดียวกัน แล้วเนื่องจากรหัสของชิปตัวหนึ่งสามารถบอกข้อมูลเพศและกลุ่มอายุได้ด้วย ดังนั้นเมื่อประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ นักวิ่งจะรู้ได้ทันทีว่าเราวิ่งเข้ามาเป็นลำดับที่เท่าไหร่ของกลุ่มอายุ ดังจะเห็นได้จากงานวิ่ง 3-4 ปีหลังมานี้ ที่มีซุ้มสำหรับพิมพ์สถิติต่างๆ ของเราให้ดูทันทีหลังเข้าเส้นชัย 

จะเห็นว่าวิธีนี้สะดวกสบาย เหมาะกับงานที่มีผู้เข้าแข่งขันจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่ นั่นคือ ถ้ามีนักวิ่งผ่านเข้ามาในรัศมีของสายอากาศพร้อมกันมากๆ สายอากาศอาจรับสัญญาณจากชิปบางตัวไม่ทัน ราวกับนักวิ่งไม่ได้วิ่งผ่านจุดนี้เลย ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ ถ้าวิ่งมาพร้อมคนกลุ่มใหญ่ แนะนำให้ฉีกหนีเข้าเส้นชัยไปก่อนดีกว่าค่ะ (ถ้ายังมีแรงน่ะนะ ^ ^) อีกเรื่องที่อยากเตือนคือ กรณีที่ได้ชิปแบบติดหลังหมายเลขติดหน้าอก ไม่ต้องลอกเทปกาวสองหน้าที่แปะทับชิปออกจนเห็นวงจรเปลือยๆ นะคะ เพราะจุดประสงค์ของเทปนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ชิปโดนเหงื่อ ซึ่งอาจทำให้มันทำงานผิดพลาดได้

สายอากาศ 2 ตำแหน่ง เพื่อป้องกันการตกหล่น
(เราจะพบลักษณะนี้ตรงจุดสตาร์ทและเส้นชัยที่คนผ่านเข้ามาพร้อมกันคราวละมากๆ)
 Cr. dndproduction.com 


เมื่อเป็นเช่นนี้ การแข่งขันใดๆ ที่ใช้กติกาของ IAAF จึงไม่ใช้เวลาสุทธิมาตัดสินผู้ชนะระดับ over all แต่จะใช้เวลาสนามเท่านั้น นั่นคือ ดูเพียงว่าใครเข้าเส้นชัยก่อนคนนั้นก็เป็นผู้ชนะ ดังนั้นจึงเป็นมารยาทที่จะให้นักวิ่งที่มีลุ้น over all ยืนอยู่แถวหน้า แม้งานนั้นจะใช้ชิปจับเวลาก็ตาม ส่วนผู้ชนะในประเภทกลุ่มอายุอาจตัดสินจากเวลาสนามหรือเวลาสุทธิก็ได้ แล้วแต่ผู้จัดงานจะกำหนด 

ระบบจับเวลาสำรอง


IAAF แนะนำว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีจับเวลาแบบไหน ผู้จัดงานวิ่งควรมีระบบจับเวลาสำรองด้วยเสมอ เผื่อว่าระบบที่ใช้อยู่เกิดความผิดพลาดหรือนักวิ่งต้องการประท้วงผล ระบบสำรองที่แนะนำคือการบันทึกวิดีโอต่อเนื่อง โดยถ่ายให้เห็นจังหวะที่นักวิ่งข้ามเส้นชัยและนาฬิกาสนามอย่างชัดเจน ดังนั้นมารยาทอีกอย่างที่พึงรู้คือ ถ้าจะรอเพื่อนหน้าซุ้มเส้นชัยให้ดูดีๆ ด้วยว่าไม่บังนาฬิกาสนาม หรือไม่เข้าไปในบริเวณนั้นเลยจะดีที่สุดค่ะ

การบันทึกวิดีโอที่เส้นชัย
ภาพที่ได้จากการบันทึกวิดีโอที่เส้นชัย Cr. appmaker.se


อ่านวิ่งทันโลกจบแล้ว งานแข่งครั้งต่อไปลองสังเกตดูนะคะว่าเค้าจับเวลากันแบบไหน และถ้าเป็นแบบชิปจับเวลา เข้าเส้นชัยแล้วก็อย่าลืมมองหาซุ้มปริ๊นท์สถิติล่ะ ขอให้เวลาดีสมกับที่ซ้อมกันทุกคนนะคะ


เอกสารอ้างอิง
IAAF Road Running Manual 2014
การวัดระยะทางในงานวิ่งด้วยวิธี Calibrated Bicycle
========================================

วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)

No comments:

Post a Comment

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...