Tuesday, May 13, 2014

รีวิวนาฬิกา GPS สำหรับนักวิ่ง GARMIN FORERUNNER 220 | 2 comments:

ขอนำรีวิว Garmin FR220 ที่เราเคยเขียนไว้ในเพจ เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มาลงใน blog อีกที เพื่อรวบรวมให้เป็นที่เป็นทางนะคะ ถ้าอ่านรีวิวนี้จบแล้วมีข้อสงสัยอะไร ก็ลองคลิกเข้าไปอ่านคำถามที่คอมเมนต์ดู เผื่อว่าจะมีคนสงสัยเหมือนกัน หรือจะสอบถามเพิ่มเติมเข้ามาทางเพจหรือใน blog นี้ก็ได้ จะพยายามหาคำตอบมาให้ค่ะ ^ ^

นาฬิกา GPS สำหรับนักวิ่ง GARMIN FORERUNNER 220
Cr: prweb.com


สิ่งที่ชอบเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า( FR210)

1) หาดาวเทียมเจอเร็วมาก ยิ่งถ้าเป็นจุดที่เราเคยเปิดการใช้งาน GPS ไปแล้ว นาฬิกาจะเก็บ location ไว้ ทำให้หาเจอได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ชนิดกดปุ๊บติดปั๊บเลยทีเดียว ไม่ได้โม้ววว!!

2) อุปกรณ์สำหรับชาร์จไฟปรับปรุงให้มีการล็อคตำแหน่งแน่นหนาขึ้น หมดปัญหาหนีบไม่ตรงร่อง ทำให้ชาร์จไม่เข้า

การ์มินไม่ได้ให้ adapter (แท่นชาร์จสำหรับเอาสายอีกด้านของที่ชาร์จไปเสียบ แล้วเสียบแท่นนี้เข้ากับปลั๊กอีกที) มาด้วย เพราะในทางปฏิบัติแล้ว เราสามารถใช้ adapter อะไรก็ได้ที่มีอยู่ จะเป็นของ Iphone , Ipad, Note หรือแม้แต่เสียบเข้ากับ USB port ของคอมพิวเตอร์ก็ได้

เปรียบเทียบที่ชาร์จแบต ระหว่าง GARMIN FR220 และ FR210


3) ตัวเรือนบาง น้ำหนักเบาลงอย่างเห็นได้ชัด สายนาฬิกาแนบไปกับข้อมือ แม้จะเป็นผู้หญิงน้ำหนัก 40 กก.(ไม่ใช่ข้าพเจ้านะ ^ ^ )

ผู้หญิงข้อมือเล็ก ก็ใส่ GARMIN FR220 ได้


4) การสื่อสารระหว่างผู้ใช้และนาฬิกา (interface) ใช้แนวคิดเดียวกับ FR10 นั่นคือเข้าใจง่าย เช่น ไม่ต้องมีการกดปุ่มแช่ 3 วินาที ทุกอย่างที่เราต้องทำจะบอกไว้หมดบนหน้าปัด... fool proof ว่างั้น คนที่ไม่คุ้นกับการเล่นอุปกรณ์ไฮเทคก็ใช้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

5) เก็บ Personal Bests ของเราลงในนาฬิกาให้เองโดยอัตโนมัติ เช่น สถิติ 5K 10K ที่ดีที่สุด และระยะที่วิ่งไกลที่สุด ฯลฯ ในขณะที่ FR210 ไม่มีคุณสมบัตินี้ ต้องไปดูจากโปรแกรม running log ต่างๆเช่น garmin connect หรือ endomondo เอาเอง

แต่ข้อเสียคือ นาฬิกาไม่สามารถแยกประเภทของ activity ได้ ดังนั้นถ้าเราใช้นาฬิกาวัดระยะทางในตอนปั่นจักรยานด้วย PBs ทั้งหลายก็จะเป็นของจักรยานโดยอัตโนมัติ เช่นที่เกิดกับเราเป็นต้น (นี่หล่อนวิ่งมาราธอนเร็วกว่า Wilson Kipsang อีกนะ ^ ^”)

เก็บ Personal Bests ลงในนาฬิกาโดยอัตโนมัติ


วิธีแก้ไขคือ เข้าไปที่สถิติตัวที่มีปัญหา นาฬิกาจะให้เลือกว่า จะใช้สถิติตัวก่อนหน้านี้แทนหรือหรือจะลบทิ้งทั้งยวงเลย กรณีที่เราเคยวิ่งในระยะนี้จริงๆ ก็ให้เลือกให้สถิติเก่า แต่ถ้าเรายังไม่เคยวิ่งไกลขนาดนี้ (เคยแต่ปั่นจักรยาน) ก็ลบทิ้งไปโลด

http://www.endomondo.com/workouts/300065624/862998

6) มีระบบสั่นเพิ่มเข้ามาด้วย เช่น สั่นเตือนเมื่อครบ 1 กม. (แล้วแต่ตั้ง) การสั่นแรงพอที่จะทำให้คนใส่หูฟังเปิดเพลงดังๆ หรือแม้แต่คนที่กำลังลงคอร์ท interval จนหูอื้อตาลาย รู้ตัวได้แน่นอนค่ะ

7) ใส่ว่ายน้ำได้!! กรี๊ดมาก ณ จุดนี้ เราลองเอาใส่ในหมวกว่ายน้ำแล้วว่ายในสระ 25 เมตร แม้บางครั้งดาวเทียมจะจับไม่ได้บ้าง (น่าจะเพราะหัวอยู่ใต้น้ำลึกเกินไป) ทำให้ระยะผิดพลาด แต่เส้นทางสามารถติดตามจำนวนรอบการว่ายไป-กลับ ของเราได้อย่างถูกต้อง คาดว่า ถ้าใส่ในหมวกว่ายน้ำแล้วว่ายในทะเลเป็นระยะทางไกลๆ น่าจะเห็นเส้นทางและวัดระยะทางได้แม่นยำกว่า

http://www.endomondo.com/workouts/286914457/862998

GARMIN FR220 ใส่ว่ายน้ำได้


8) ในขณะที่ FR210 จำกัดการแสดงผลต่อหนึ่งหน้าจอไว้ที่ 3 ค่า แถวบนคือระยะทาง ตรงกลางคือเวลา แถวล่างคือ lap pace หรือ average pace (เลือกได้) แต่พอมาเป็น FR220 จะสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้แต่ละแถวแสดงค่าอะไร นอกจากนี้ยังเลือกได้ด้วยว่าต้องการให้แสดงกี่ค่าในหนึ่งหน้าจอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ สว. เพราะถ้าเลือกให้แสดงเพียงค่าเดียว ตัวเลขบนหน้าจอจะใหญ่บึ้ม สะใจแน่นอน

นอกจากนี้ FR220 ยังเพิ่มการแสดงผลให้อีก 1 หน้าจอด้วย ดังนั้นจึงมีหน้าจออิสระที่เราสามารถเลือกดูค่าได้ตามใจชอบทั้งหมด 6 ค่า กับหน้าจอที่จำกัดไว้แสดง HR อย่างเดียวอีก 1 หน้าจอ

GARMIN FR220 ปรับตัวเลขให้ใหญ่ได้


9) เนื่องจากมี accelerometer (เครื่องวัดความเร่ง) ฝังในตัวเครื่อง ดังนั้นจึงสามารถบอก จำนวนก้าวต่อหนึ่งนาที หรือที่เรียกว่า cadence ได้ด้วย ซึ่งจากการทดสอบพบว่าแม่นยำใช้ได้ นอกจากนี้ ถ้าวิ่ง indoor บนสายพาน แล้วสั่งปิด GPS เครื่องวัดความเร่งในนาฬิกาจะทำหน้าที่วัดระยะทางจากการเคลื่อนไหวของแขนได้ด้วย แต่จากการทดสอบโดยเทียบกับ footpod พบว่าคลาดเคลื่อนสูง

เราเปรียบเทียบกับ Footpod แทนที่จะเปรียบเทียบกับความเร็วที่แสดงบนหน้าจอเครื่องวิ่งสายพาน เพราะไม่แน่ใจว่า treadmill นี้ได้รับการสอบเทียบหรือไม่ ในขณะที่เรารู้ว่า Footpod มีความแม่นยำสูง นั่นคือ 98% แม้จะยังไม่ได้สอบเทียบ อ่านหลักการทำงานของ Footpod ได้ที่โพสต์  ความแตกต่างระหว่าง Nike+ sensor กับ Garmin Footpod (1)

วัดระยะด้วย FR220  http://www.endomondo.com/workouts/290109185/862998
วัดระยะด้วย Footpod http://www.endomondo.com/workouts/292108480/862998

วัดความเร็วเมื่อวิ่งในร่มไม่แม่น

จากรูปเราวิ่งบนสายพาน 4 กม. เพิ่มความเร็วทุกกม.ตั้งแต่ speed 8 - 8.5 - 9 - 9.5
กราฟบน คือค่าจากเครื่องวัดความเร่งในตัวนาฬิกา ได้ Lap pace เป็น 6:56 6:36 6:28 6:16
กราฟล่าง คือค่าจาก Footpod ซึ่งใช้เป็นค่าอ้างอิง ได้ Lap pace เป็น 6:41 6:04 5:38 5:19

10) แบตเตอรี่อึดมาก เราทดลองใช้ FR220 ที่ชาร์จแบตไว้เต็ม 100% ปั่นจักรยานทางไกล รวมเวลาทั้งหมดที่เปิด GPS ประมาณ 6:15 ชม. พบว่านาฬิกายังเหลือแบตเตอรี่อยู่ 38% ถ้าสันนิษฐานอัตราการใช้แบตเตอรี่เป็น linear แสดงว่าเมื่อชาร์จเต็ม 1 ครั้ง จะสามารถใช้งานแบบเปิด GPS ได้ 604 นาที หรือประมาณ 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว มั่นใจได้ว่านาฬิกาไม่ดับไปก่อนจบมาราธอนแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพในการเก็บประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่จะน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ระยะเวลาของการใช้งานสั้นลงด้วย

http://www.endomondo.com/workouts/300065624/862998


11) ต้องขอบคุณการ์มินมากๆ ณ จุดนี้ ที่เห็นใจนักวิ่งงบปานกลาง แต่อยากลงคอร์ตแบบพิสดาร เพราะ FR220 ยอมให้ import workout ที่สร้างบน garmin connect แล้ว คราวนี้ถ้าอยากสร้างแผนการวิ่งหรืออยากสร้าง interval training แบบแอดวานซ์ก็สามารถทำได้หมด

import workout เข้านาฬิกาได้ จึงฝึกซ้อม interval ได้ทุกรูปแบบ

ในรูปคือการตั้งแผนการวิ่งแบบ วิ่ง 1 กม. เดิน 1นาที โดยเริ่มด้วย warm up 5 นาที ให้นาฬิกาเตือนเมื่อหัวใจอยู่นอกช่วง 120-140 bpm (ต้องใส่สายวัดหัวใจด้วย) จากนั้นวิ่ง 1 กม. ที่ความเร็วอยู่ในช่วง 6:00-6:09 นาที/กม. ถ้าวิ่งช้าหรือเร็วกว่านี้ นาฬิกาจะเตือน สลับด้วยการเดินพัก 1 นาที โดยควบคุมหัวใจให้อยู่ในช่วง 130-140 bpm ทำแบบนี้ทั้งหมด 3 รอบ ฯลฯ เมื่อตั้งโปรแกรมเสร็จ ก็ส่งผ่านสายเข้านาฬิกา จากนั้นก็จะเห็นแผนนี้อยู่ในนาฬิกา

12) สามารถ export training plan (ตารางการฝึกซ้อมล่วงหน้า) ใน Garmin Cannect ลงในนาฬิกาได้

import ตารางการฝึกซ้อมล่วงหน้า ลงในนาฬิกาได้
คลิกที่รูปเพื่อขยาย

จากรูป เราเลือก Training Plan มาราธอนระดับ II ( ระยะเวลา 16 อาทิตย์ ฝึก 5 วัน/สัปดาห์) โดยกำหนดให้เริ่มแผนฝึกวันที่ 11 พค. จากนั้นก็ให้แสดงตารางการฝึกตาม plan ลงในปฏิทิน ดังจะเห็นได้จากรายการที่เป็นสีม่วง

จากรูปจะเห็นว่า ตารางการฝึกในแต่ละวันนั้นแตกต่างกันไป มีทั้งวิ่งสบายๆ/ interval /Fartlek /วิ่งยาว ในการฝึกแต่ละแบบก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีก เช่นกำหนดให้ warm up กี่นาที กำหนดให้วิ่งใน zone หัวใจต่างๆ กี่นาที

ทั้งหมดนี้เราไม่ต้องคอยมาเปิดปฏิทินดู และจดใส่มืออีกต่อไป แค่ export ตารางการฝึกทั้ง 16 สัปดาห์ทั้งหมด 73 รายการ ลงในนาฬิกา พอถึงเวลาซ้อมก็แค่เปิดนาฬิกาดูเท่านั้น

หน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะ export ตารางการฝึกซ้อม
หน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะ export ตารางการฝึก
ยกตัวอย่างเช่นวันนี้คือวันที่ 13 พค. ซึ่งเป็นการฝึก interval เมื่อเปิดนาฬิกาไปที่ Training>>Training Calendar ก็จะเห็นตารางซ้อม (ซึ่งวันนี้เป็นการซ้อมแบบ interval) อยู่ในนั้นเรียบร้อยแล้ว เราจะกดเพื่อเริ่มฝึกเลย หรือเข้าไปดูรายละเอียดก่อนก็ได้(ดังรูปขวามือ) เมื่อหมด session หนึ่งๆ นาฬิกาจะเตือนโดยอัตโนมัติ และบอกสิ่งที่เราต้องทำใน session ต่อไป

ตารางการฝึกซ้อมในนาฬิกา


13) สามารถ upload activity ขึ้นเว็บ garmin connect ได้โดยไม่ต้องเปิดคอมพิวเตอร์อีกต่อไป เพราะ FR220 เพิ่มระบบสื่อสารข้อมูลแบบ Bluetooth ดังนั้น(ในทางทฤษฎี) ถ้าเรามี mobile device ที่รองรับ Bluetooth เราก็สามารถ upload activity ผ่านอุปกรณ์นี้ได้ เพียงแต่ต้องมี โปรแกรมหรือ application ที่ทำหน้าที่คุยกันระหว่าง device กับ นาฬิกา ซึ่งในตอนนี้ Garmin เขียน App ไว้เฉพาะที่ใช้บน iOS เท่านั้น (ยังไม่เขียนให้ใช้บน Android หรือ Window) ดังนั้นตอนนี้จึง upload ผ่าน Iphone และ Ipad ได้เท่านั้น ส่วนใครที่ใช้ Samsung หรือแม้แต่ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะธรรมดา ก็ต้องเสียบสายเพื่อ upload ไปพลางๆก่อนนะคะ

***UPDATE วันที่ 4 เมษา 2558
ตอนนี้ App Garmin Connect Version 2.9.1 บน Android ทำให้ upload activity ผ่าน Samsung Note II ได้แล้วนะคะ หลังจากที่เวอร์ชั่นบน Android ก่อนหน้านี้ใช้ไม่ได้ จนเราถอดใจไปแล้ว

สรุปคือ ตอนนี้สามารถ upload activity ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทั้ง iOS และ Android แล้วค่ะ



ใช้แอพลิเคชันที่ชื่อว่า Garmin Connect ซึ่งดาวน์โหลดได้จาก App Store และ Google Play

Garmin Connect iPhone App

upload activity ขึ้นเว็บ garmin connect ผ่าน iPhone
คลิกที่รูปเพื่อขยาย
  • เปิด Bluetooth ของโทรศัพท์
  • ที่นาฬิกา กดเข้า menu Setting >>> Bluetooth >>> Pair Mobile Device
  • เข้า App Garmin Connect >>> Device >>> Add device >>> Start >>> Yes >>> Done
หลังจากที่ Pair device แล้ว ทุกครั้งที่เปิด App Garmin Connect และ ปลดล็อคหน้าจอของนาฬิกา ซอฟท์แวร์จะทำการเชื่อมต่อนาฬิกาเข้ากับ iPhone พร้อมทั้ง upload workout ให้อัตโนมัติ

หน้าจอ iPhone ขณะเชื่อมต่อกับนาฬิกา

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังชอบอัพโหลดเข้าคอมพิวเตอร์ด้วยสาย USB ก็ยังทำได้ตามปกติค่ะ

สิ่งที่ไม่ชอบเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า( FR210)

1) ส่วนตัวชอบสีของ FR210 มากกว่า
2) ไม่มีแระ ก็แหม เพิ่มมาให้ซะเต็มพิกัดเทียบเท่ากับรุ่นสูงๆซะขนาดนี้ ^ ^

บทสรุปผู้บริหาร
ถ้าคุณตั้งงบสำหรับนาฬิกาวิ่งไว้ไม่เกิน 10,000 บาทซื้อรุ่นนี้เถอะ ไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ (มีขายทั้งแบบเฉพาะนาฬิกาอย่างเดียว 8,700 บาท และแบบขายพร้อมสายวัดหัวใจ 10,500 บาท)

สนใจนาฬิกา GPS ราคาย่อมเยากว่านี้ อ่าน บันทึกการทดลองใช้นาฬิกา GPS สำหรับนักวิ่ง GARMIN FR10
สนใจนาฬิกา GPS ไฮโซกว่านี้ อ่าน เก่าไป ใหม่มา เมื่อ 610 transform to 620
อยากได้คู่มือภาษาไทย อ่าน คู่มือภาษาไทยนาฬิกา GPS Garmin Forerunner



2 comments:

  1. ขออนุญาตรบกวนสอบถามข้อมูลค่ะ^^
    ไม่ทราบว่าจริงๆแล้ว Garmin Forerunner® 22 สามารถ touch screen ได้รึป่าวค่ะ
    และสามารถใช้ได้กับ android รึป่าวค่ะ//ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ยินดีค่ะ
      1) ทัชสกรีนไม่ได้ค่ะ ถ้าอยากได้ต้องใช้ FR620
      2) ลองล่าสุดแล้ว connect ได้ แต่ upload ยังไม่ได้...สรุปคือ ไม่ได้นั่นเอง ^ ^"
      แต่ถ้าเป็น iphone ก็ฉลุยเลยค่ะ
      ส่วนตัวใช้ android อยู่เหมือนกัน ก็เลย upload ผ่านสายโลดดด

      Delete

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...