หน้าเว็บ

Thursday, August 31, 2017

Anearobic TE คืออะไร

เพื่อนๆ ที่ใช้ Fenix5 (รวม 5s และ 5x ด้วย) และ FR935 คงเคยเห็นหน้าจอที่เขียนว่า Training Effect ที่มีตัวเลข 2 ฝั่ง แบบในรูปใช่มั้ยคะ

Cr. eglobalcentral.com


สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า 2 ค่านี้คืออะไร เอาไปใช้ยังไง อ่านเลยค่ะ



ฝั่งซ้ายที่เขียนว่า Aerobic หมายถึง Aerobic Training Effect


มันคือ Training Effect (TE) ตัวเดิม ที่เคยมีใน Garmin รุ่นก่อนหน้านี้เช่น FR235/FR735นั่นเอง

เป็นค่าที่บอกว่า การวิ่งครั้งนี้ส่งผลให้พัฒนาความสามารถของระบบแอโรบิค (Aerobic Capacity) มากน้อยแค่ไหน

ค่านี้จะสูงเมื่อวิ่งด้วยความเข้มข้นปานกลางถึงหนัก (แปลเป็นภาษาคนได้ว่า วิ่งเหนื่อยปานกลางถึงเหนื่อยมาก) โดยจะวิ่งแบบความเร็วคงที่หรือแบบ interval ที่แต่ละเที่ยวนานกว่า 3 นาทีก็ได้

ถ้าอยากรู้ลึกๆ ว่าค่านี้คำนวณจากอะไร และเอาไปใช้งานอะไรได้บ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่โพสต์ 



Aerobic TE ใน Garmin FR235
Aerobic TE ใน Garmin FR235


ฝั่งขวาที่เขียนว่า Anaer. หมายถึง Anaerobic Training Effect


ดูให้ดีนะคะ ไม่ได้เขียนซ้ำกับข้อ 1 ชื่อมันคล้ายๆ กัน เป็นการเอาคำว่า aerobic มาใส่ An ไว้ข้างหน้า

ในภาษาอังกฤษ คำไหนโดนใส่ an จะแปลว่า ไม่มีสิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนั้น เช่น Archy แปลว่าการปกครอง ส่วน Anarchy แปลว่าภาวะที่บ้านเมืองไร้การปกครอง ไร้กฎระเบียบ อันนี้ก็เช่นกัน Aerobic แปลว่าใช้อากาศ (ออกซิเจน) ส่วน Anaerobic แปลว่าไม่ใช้ออกซิเจน

Anearobic TE คือ ค่าที่บอกว่า การวิ่งครั้งนี้ส่งผลให้พัฒนาความสามารถของระบบแอนาโรบิค (Anearobic Capacity) มากน้อยแค่ไหน

ค่านี้จะสูงเมื่อวิ่ง interval หนักมากๆ แต่ละเที่ยวสั้นๆ (10-110 วินาที)

ตัวอย่างการฝึกซ้อมที่ทำให้ได้ Anaer. TE ค่าสูงๆ
ตัวอย่างการฝึกซ้อมที่ทำให้ได้ Anaer. TE ค่าสูงๆ

ที่ Garmin เพิ่มดัชนีตัวนี้เข้ามาเพราะ การจะวิ่งให้ดีนั้น ร่างกายต้องมีความสามารถสูงทั้ง 2 ระบบ

ถ้าเรามีระบบแอโรบิคที่ดี ร่างกายของเราจะดึงออกซิเจนได้เก่ง และใช้ออกซิเจนอย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์คือเราจะวิ่งได้อึด แต่ถ้าอยากวิ่งได้เร็ว เราต้องมีระบบแอนาโรบิคที่ดีด้วย เพราะถ้าระบบนี้ของเราดี ร่างกายจะกำจัดกรดแลคติกได้เก่ง เก็บสะสมและใช้เซลล์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ดี

อย่าเพิ่งถามต่อ ว่าทำไมคุณสมบัติเหล่านี้ถึงทำให้วิ่งเร็ว...แบบว่ายังไม่ได้หาข้อมูลง่ะ ^ ^” เอาเป็นว่าเชื่อตามนี้ไปก่อนนะ มีเวลาเมื่อไหร่จะ edit เพิ่มให้



TE ทั้งสองค่านี้ ยิ่งสูงยิ่งดีใช่หรือไม่?


คำตอบคือไม่ใช่

เพราะตามหลักการแล้ว การฝึกซ้อมควรมีทั้งการวิ่งสบายๆ วิ่งปานกลาง วิ่งค่อนข้างหนัก และวิ่งหนัก ปนกันไป

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทุกครั้งที่วิ่ง ได้ Aerobic TE = 4 หรือ 5 ตลอด ก็แปลว่าเราวิ่งหนักถึงหนักมากตลอด ถึงมันจะส่งผลพัฒนาระบบแอโรบิคของเราอย่างสูง แต่มันก็ทำให้เราบอบช้ำด้วย ซึ่งถ้า recovery ไม่เพียงพอ สุดท้ายร่างก็จะพัง

อ่านเรื่องความสำคัญของการ recovery ได้ที่ วิ่งทันโลก 26: การฟื้นสภาพนั้นสำคัญไฉน

เราควรวิ่งให้มี TE หลากหลายจะดีกว่า แต่สัดส่วนระหว่างการวิ่งให้ได้ TE มากๆ กับ กับการวิ่งให้ได้ TE น้อยๆ ควรเป็นเท่าไหร่ อันนี้ฟันธงไม่ได้ แล้วแต่พรรษาการวิ่ง และระยะที่ต้องการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม แนวทางกว้างๆ คือ สัดส่วนระยะทางควรเป็น 20/80

สำหรับมือใหม่ สนใจเฉพาะ Aerobic TE อย่างเดียวก็ยังได้ ส่วน Anaer. TE จะเป็นเท่าไหร่ก็ช่างมัน เพราะสำหรับมือใหม่ แค่วิ่งด้วยความเร็วคงที่ ด้วยความเหนื่อยระดับต่างๆ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่จำเป็นต้องวิ่ง interval หนักๆ ให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บแต่อย่างใด นักวิ่งมือใหม่คนไหนสนใจแผนการฝึกซ้อมโดยใช้ Aerobic TE เป็นเกณฑ์ อ่านเพิ่มเติมได้ที่โพสต์ แผนพัฒนาความฟิตสำหรับนักวิ่งไฮเทค  

แผนการฝึกซ้อมสำหรับผู้เริ่มต้น โดยใช้ TE  เป็นเกณฑ์
แผนการฝึกซ้อมสำหรับผู้เริ่มต้น

สรุปแล้ว เอาค่า TE ไปใช้งานยังไงดี?


คุณค่าที่แท้จริงของมันคือ ใช้เป็นตัวตรวจสอบ ว่าการวิ่งครั้งนั้นๆ ของเรา เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ต้องการหรือไม่

เช่นถ้าวิ่ง easy ทีไร ได้ Aerobic TE 3 ถึง 4 ตลอด แปลว่าเราวิ่งเร็วเกินไป ไม่ได้ประโยชน์จาก easy run เท่าที่ควรเป็น

หรือถ้าลงคอร์ท 400m ทีไร ได้ Anaer. TE ไม่เคยถึง 3.0 ก็แปลว่า เราซ้อมเบาไป ไม่ได้ประโยชน์ของการลงคอร์ทเท่าที่ควรเป็น

ตารางข้างล่างบอกเราว่า การซ้อมแต่ละแบบ ควรได้ Aerobic TE และ Anaer. TE เท่าไหร่ (ถ้าผิดไปจากนี้มาก แสดงว่าผิดวัตถุประสงค์) คลิกที่รูปเพื่อขยาย หรือจะเข้าไปโหลดใน link ที่ให้มาท้ายบทความก็ได้ค่ะ

Cr. Firstbeat



หวังว่าคงตอบข้อสงสัยของเพื่อนๆ ได้นะคะ ถ้าเห็นว่าโพสต์นี้มีประโยชน์ หรืออยากสนับสนุน blog ของเรา ไม่ต้อง Donate อะไรค่ะ แค่วันไหนอยากได้นาฬิกา Garmin ขึ้นมา ขอให้นึกถึงร้าน BananaRun เป็นร้านแรกก็พอ ^___^


ที่มา 
เอกสารที่ Firstbeat ส่งให้ DCR โดยเฉพาะ
https://media.dcrainmaker.com/images/2017/03/FirstBeat-GarminFeatures-DCR.pdf


Tuesday, August 1, 2017

Auto lap by Position แม่นยำแค่ไหน

เคยสังเกตมั้ยคะ ในนาฬิกา GARMIN จะมี Auto Lap 2 ประเภทคือ By Distance กับ By Position แบบที่เราใช้กันทั่วไปคือ By Distance เช่น ให้ตัด Lap อัตโนมัติทุก 1 กม. หรือ 500 เมตร หรือระยะทางอื่นๆ ตามที่เราต้องการ ...เอ...แล้ว By Position ล่ะ เอาไว้ทำอะไร?

มาดูการทำงานของมันก่อน นาฬิกาจะจำพิกัด GPS ของตำแหน่งบนพื้นโลก ณ จุดที่เรากดปุ่ม start เอาไว้ จากนั้น ทุกครั้งที่เราวิ่งผ่านตำแหน่งนี้ มันจะตัด Lap ให้โดยอัตโนมัติ ดังนั้น ถ้าเราวิ่งรอบสวนสาธารณะ มันก็จะตัด lap ทุกๆ 1 รอบสวนนั่นเอง ทำให้เรารู้ข้อมูลของการวิ่งแต่ละรอบได้โดยไม่ต้องกด lap เอง





ฟังดูเข้าที อย่างงี้ก็เอาไปจับเวลา 1 รอบสนาม 400 เมตรได้สิ เวลาลงคอร์ทจะได้ไม่ต้องกด lap เอง ?! เพราะก่อนหน้านี้เวลาลงคอร์ท 400/800 บนสนามมาตรฐานจะไม่กล้าให้ GARMIN ตัด lap by Distance ให้ (มีหน้าที่วิ่งอย่างเดียว เดี๋ยวครบ 400 เมตรเมื่อไหร่มันจะมีเสียงสวรรค์ 3 ติ๊ด แล้วตัด lap ให้เอง ไรงิ) เพราะเคยทดลองแล้วว่า วิ่งครบ 1 รอบสนามแล้ว นาฬิกายังจับระยะได้ไม่ถึง 400 เมตร

ในทางทฤษฎีก็น่าจะได้ค่ะ แต่เพื่อความมั่นใจ เราเลยลองทดสอบความแม่นยำของมันดู เพราะอย่างที่รู้กันว่า แม้จะรับดาวเทียมได้จำนวนมากเพียงพอ แต่พิกัดที่นาฬิการับรู้สามารถคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งจริงได้ถึง +/- 10 เมตร 

เราทดลองโดยการวิ่งรอบสนามมาตรฐาน 400 เมตร ด้วยเพซ 5/6/7 อย่างละ 10 รอบ สวมนาฬิกา 2 เรือน คือ FR220 เพื่อกด Lap ด้วยมือทุกครั้งที่ผ่านจุดเริ่มต้น และ FR235 ที่ตั้งค่าให้มัน Auto Lap by Position แล้วนำ Lap time ที่ได้จากนาฬิกา 2 เรือนมาเปรียบเทียบกัน สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากการทดลองได้ดังนี้

1) พบว่า lap by Position จะตัด lap ในตำแหน่งหลังจากตำแหน่งเริ่มต้นที่แท้จริงเสมอ ในทุกระดับความเร็ว



เช่น ถ้าวิ่งรอบสนาม 3 รอบ ด้วยเพซประมาณ 5 นาที/กม. ถ้ากด lap ด้วยมือที่เวลา 121.6 / 248.4 / 375.1 วินาทีนับจากเริ่มต้น ตามลำดับ จะพบว่า auto lap by position ตัด lap ที่เวลา   122.5 / 429.5 / 376.5 วินาทีนับจากเริ่มต้น ตามลำดับ

เหตุผลเพราะนาฬิกาเห็นตำแหน่งที่ต้องการให้ตัด lap เลยจุดเริ่มต้นที่แท้จริงเสมอ ในทุกระดับความเร็ว แบบที่เห็นในรูปด้านบน (เลยไปกี่เมตร เดี๋ยวบอกอีกที)

2) ถ้าไม่สนใจว่าตำแหน่งที่ต้องการให้ตัด lap ถูกต้องหรือไม่ สนใจเพียงแค่ว่า ตัด lap ทุกรอบที่ตำแหน่งเดิมหรือไม่ (นั่นคือ ถึงจะตัดผิดตำแหน่ง แต่ถ้าสามารถตัดที่ตำแหน่งเดิมได้ทุกรอบ ก็ถือว่าแต่ละ lap ครบ 400 เมตรได้ตามปกติ ถ้าอ้างอิงจากรูปด้านบนก็คือ บอลลูนสีขาวทับจุดเดียวกันทุกอัน) พบว่ายิ่งความเร็วมาก นาฬิกายิ่งตัด auto lap by position ได้ใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม 



ด้านบนคือกราฟแจกแจงความถี่ เป็นการนำ Lap time ทั้งหมด 10 Lap ของ manual lap (ซึ่งถือว่าเป็นค่ามาตรฐาน) มาลบกับ auto lap by position จะเห็นว่าเมื่อวิ่งด้วยเพซประมาณ 5 นาที/กม. Lap time จะเกาะกลุ่มกันมากที่สุด นั่นคือมี 6 รอบ ที่ Lap time มีค่าเท่าค่ามาตรฐานเลย อีก 2 รอบ มีค่ามากกว่ามาตรฐาน 1 วินาที และอีก 2 รอบน้อยกว่ามาตรฐาน 1 วินาที (ของจริงคือ เวลามีจุดทศนิยม แต่ปัดให้เป็นจำนวนเต็มค่ะ) แต่ถ้าวิ่งด้วยเพซ 7 จะมีอยู่ 1 รอบที่ lap time ผิดพลาดไปถึง 4 วินาที     

ถ้าดูกราฟแล้วนึกภาพไม่ออก ลองดูจากรูปการทดลองจริงก็ได้ค่ะ ฝาท่อระบายน้ำมีความยาวจากรูหนึ่งถึงรูหนึ่งประมาณ 1 เมตร จะเห็นว่านาฬิกาตัด auto lap ห่างจากตำแหน่งที่ต้องการประมาณ 5 เมตร โดยที่ ถ้าวิ่งด้วยเพซ 5 นาฬิกาจะตัด Lap เกาะกลุ่มกันในระยะรอบจุด auto lap ไม่เกิน +/- 0.5 เมตร แต่ถ้าวิ่งด้วยเพซ 7 นาฬิกาจะตัด Lap รอบจุด auto lap ในช่วง +/- 1 เมตร หรือบางรอบก็มากกว่านั้น 



เหตุผลว่าทำไมยิ่งวิ่งเร็ว auto lap by position ยิ่งเกาะกลุ่มกัน ณ จุดนี้ยังคิดไม่ออกค่ะ ไว้คิดออกจะมาเขียนเพิ่มเติม 


3) จากข้อมูล 2 ข้อที่กล่าวมา ถ้าปลงใจแล้วว่า จะใช้ Auto lap by Position นี่แหละ เพราะขี้เกียจกด lap เอง ก็ขอให้ข้อมูลเพื่อเตรียมใจว่าจะมี error เกิดขึ้นประมาณเท่าไหร่

พบว่า lap time ที่ได้จากการวิ่งรอบสนาม 10 รอบ ด้วยเพซ 5/6/7 จะมี error เฉลี่ย 0.53/0.80/0.84 วินาที ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ lap time ที่ได้จากการกดด้วยมือ.... เออ น้อยกว่าที่คิดวุ้ย

เราสันนิษฐานต่อเอาเองจากผลการทดลองว่า ถ้าลงคอร์ท 400 เร็วกว่าเพซ 5 (รอบละ 120 วินาที) ก็จะยิ่งได้ error น้อยลงไปอีก นั่นคือ น้อยกว่า 0.53 วินาที ซึ่งดูๆ แล้วก็ยอมรับได้นะ


บทสรุปผู้บริหาร


  • Auto lap by position ตัด lap คลาดเคลื่อนจากจุดเริ่มต้นประมาณ 5 เมตร
  • แต่ยังให้ค่า lap time ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวิ่งเร็ว
  • ดังนั้น จึงสามารถนำมาใช้เพื่อการลงคอร์ท 400/800/1200 etc. ได้


อย่างไรก็ตาม ถ้าจะใช้ auto lap by position ต้องมั่นใจว่า ที่สนามแห่งนั้นรับสัญญาน GPS ได้ดีตลอดเวลาที่ลงคอร์ท ดูได้จากเส้นทางที่ track ได้จาก GPS ในการวิ่งครั้งก่อนๆ ว่ามันแนบไปบนลู่วิ่งหรือไม่ ถ้าวิ่งทีไรก็บูดๆ เบี้ยวๆ หรือโดดไปมาตลอด แสดงว่าทำเลของสนามไม่เหมาะกับการรับสัญญานจากดาวเทียม กรณีนี้แนะนำให้กด lap เองด้วยมือจะดีกว่าค่ะ

อาจมีคำถามว่า ถ้าใช้ฟีเจอร์นี้แล้ว จะลงคอร์ทกันอีท่าไหน เพราะมันต้องมีระยะจ็อกด้วยนี่นา? บอกตามตรง เราก็ยังไม่เคยลอง แหะๆ ^ ^ มีแผนที่คิดไว้แล้วล่ะ เดี๋ยวถ้าลองแล้วเวิร์ค จะมาเล่าให้ฟังทีหลังค่ะ

ปล. วิธีตั้งค่า
สำหรับ FR235
Menu >> activity settings >> Lap >> Auto Lap >> by position
สำหรับ FR935
Menu >> settings >> activity&apps >> run >> activity settings >> auto Lap >> auto by position

ถ้าเลือก  >> Start and Lap นาฬิกาจะจำพิกัดของจุด start ไว้เลย เพื่อเป็นจุดสำหรับการตัด lap
ถ้าเลือก >> press only นาฬิกาจะ start เฉยๆ ต่อเมื่อเราวิ่งถึงจุดที่อยากให้ตัด lap จึงกดปุ่ม select อีกครั้ง นาฬิกาก็จะจำตำแหน่งนั้นไว้ ทำแค่ตอนแรกทีเดียวเท่านั้น

ฟังก์ชั่นนี้ไม่มีในซีรี่ส์ Fenix ค่ะ

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง
เรื่องน่ารู้ของสนามมาตรฐาน 400 เมตร (จะรู้ได้ยังไงว่าวิ่งลู่ไหน ตรงไหน ถึงได้รอบละ 400เมตร พอดี)