หน้าเว็บ

Sunday, March 6, 2016

บันทึกเท้าเปล่า: กิโลเมตรที่ 5-10

กลับไปอ่านโพสต์ บันทึกเท้าเปล่า: กิโลเมตรที่ 0-4 พบว่าตัวเองเคยตั้งใจจะลงวิ่งมินิมาราธอนเท้าเปล่าตั้งแต่ปลายปี 2556 (2013) เอาเข้าจริง กว่าจะได้วิ่งมินิฯเท้าเปล่าครั้งแรกก็ช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ 2 ปี 4 เดือนโน่น จำไม่ได้แล้วว่าทำไมปลายปี 56 ถึงไม่ได้วิ่ง เดาว่าคงเป็นเพราะพอวิ่งยาวขึ้นเรื่อยๆ ซัก 5-6 กม. แล้วพบว่ายังแก้ปัญหาวิ่งแล้วเท้าพองไม่ได้ 

SET BULL RUN งานวิ่งมินิมาราธอนเท้าเปล่าครั้งแรก
SET BULL RUN งานวิ่งมินิมาราธอนเท้าเปล่าครั้งแรก


หลังปี 2013 เราวิ่งน้อยลง อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ทิ้งการวิ่งเท้าเปล่า ถ้าจะพูดให้ถูก การวิ่งเท้าเปล่าทำให้เราออกไปวิ่งได้ในวันที่โคตรขี้เกียจ เพราะมันเบาสบายทั้งร่างกายและจิตใจ ในส่วนของร่างกายนั้นก็แน่อยู่แล้ว การวิ่งเท้าเปล่าเราจะไม่ต้องยัดเท้าเข้าไปอบๆ อับๆ อยู่ในรองเท้า ได้เอาเท้าสัมผัสพื้นถนนและพื้นสนามแบบที่ชีวิตปกติไม่เคยได้ทำ ได้รู้สึกอย่างเต็มที่ว่าเท้ากำลังอยู่ในท่าทางแบบไหน เท้ากำลังทำอะไรอยู่ แม้จะไม่ถึงขนาด "รู้สึกกลับเป็นเด็กอีกครั้ง" (เพราะตอนเด็กก็ไม่เคยวิ่งเท้าเปล่าอยู่ดี ^ ^) แต่ก็สบายและสนุกทุกครั้ง

สำหรับส่วนของจิตใจ พอไม่ต้องใส่ถุงเท้า รองเท้า ไม่ต้องเตรียมรองเท้าแตะไปเปลี่ยนหลังวิ่งเสร็จ ก็ทำให้พิธีกรรมก่อนวิ่งสั้นลง โอกาสที่จะโยกโย้ไม่ยอมไปวิ่งก็น้อยลง แค่เปลี่ยนชุดแล้วใส่รองเท้าแตะ ตัดใจเดินไปให้ถึงสนามก็ได้วิ่งแล้ว

ระยะทางสะสมของวิ่งเท้าเปล่าในแต่ละปี
ไมเลจเท้าเปล่าตั้งแต่กรกฎา 2013

จะเห็นว่าไมเลจของการวิ่งเท้าเปล่าของเราไม่เยอะเลย ก่อนปี 2016 เดือนนึงเราจะวิ่งซักครั้งสองครั้ง และวิ่งครั้งละไม่เกิน 5-6 กม. เพราะปัญหาวิ่งแล้วเท้าพองอย่างที่บอกไปแล้ว ถ้าวิ่งช้ามากๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าวิ่งเร็วกว่าเพซ 7 ก็จะเริ่มพองในกม.ท้ายๆ

ตั้งแต่ปลายปี 2015 เราพยายามวิ่งเท้าเปล่าให้สม่ำเสมอขึ้นตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด ที่บอกว่านักวิ่งควรจะมีรองเท้าวิ่งหลายแบบหลายยี่ห้อ (รวมทั้งยี่ห้อ "เท้าเปล่า" ด้วย) เพราะรองเท้าแต่ละคู่ก็บังคับให้เราลงเท้าต่างกัน แม้บางครั้งเราจะไม่สังเกตเห็นความแตกต่างก็ตาม การที่ต้องลงเท้าในตำแหน่งเดิมซ้ำกันเป็นหมื่นๆ ครั้ง จะทำให้เกิดความบาดเจ็บสะสมได้ ...เมื่อได้วิ่งเท้าเปล่าบ่อยขึ้น (สัปดาห์ละครั้ง) ความเข้าใจก็ตามมา

เราเริ่มสังเกตได้ว่าอาการเท้าพองเกิดเพราะเราถีบพื้นในจังหวะส่งตัว (ซึ่งถ้าใส่รองเท้าจะไม่มีปัญหา เราเลยวิ่งแบบนี้มาตลอด) วิธีแก้คือ ไม่ถีบแต่ใช้กล้ามเนื้อหน้าขาในการยกเท้าขึ้นจากพื้นแทน เมื่อเปลี่ยนโฟกัส ท่าวิ่งจะเปลี่ยนไปเอง นั่นคือการลงเท้าจะกลายเป็นแบบเต็มเท้า และการแกว่งแขน จะต้องแกว่งไปข้างหลังมากขึ้น เพื่อให้สมดุลกับการยกต้นขาให้ตัวเอนมาข้างหน้า ... เราก็ไม่รู้ว่าแบบนี้คือถูกต้องมั้ย แต่ผลก็คือ มีอยู่วันนึงเราวิ่งเท้าเปล่าเกือบ 8 กม. ได้โดยเท้าไม่พองเลย!! ฝึกจนมั่นใจว่าทางนี้แหละใช่แน่ๆ ก็ได้เวลาลงสนามมินิมาราธอนเท้าเปล่าครั้งแรกเสียที ^ ^

วิ่งตาม pacer 70 งาน SET BULL RUN 2016
วิ่งตาม pacer 70 นาที โป่งฟ้า

เราเลือกงาน SET BULL RUN ของตลาดหลักทรัพย์ที่วิ่งเส้นรัชดา ตรงยาวๆ เพราะเห็นแล้วว่าถนนเป็นลาดยางทั้งเส้น และน่าจะเรียบเนียน ปลอดจากเศษแก้ว และเพื่อไม่ให้ตัวเองห้าววิ่งเร็วเกินไป ในการวิ่งครั้งแรกนี้ขอตาม pacer 70 นาที (หมายถึงถ้าวิ่งตามทีมนี้ คุณจะเข้าเส้นชัยในเวลา 70 นาที) ไปเรื่อยๆ ดีกว่าเข้าเส้นชัยแบบเขย่งเก็งกอยเพราะหนังเท้าถลอกกลางทาง 

แล้วก็เป็นอย่างที่คิด ถนนเรียบเนียน 90% จะมีหวาดเสียวตอนกลับตัวตรงตีนสะพานข้ามแยก ที่มีฝุ่นดินทรายปนอยู่กับเศษอะไรแตกๆ ที่ identify ไม่ได้แค่นั้น (นี่คือรีวิวพื้นถนน ที่จะพบได้ในรีวิวของนักวิ่งเท้าเปล่าเท่านั้น 555+) เราวิ่งตาม pacer มาจนถึงประมาณ กม. 8 ก็สวัสดีทีมงาน ขอเร่งให้สนุก 2 กม.สุดท้าย เข้าเส้นชัยด้วย chip time 1:07:22 ชม.ระยะทางการ 10.3 กม. เพซเฉลี่ยประมาณ 6:30 นาที/กม.

lap pace งานวิ่ง SET BULL RUN 2016
https://www.endomondo.com/users/862998/workouts/678956499


หลังจากนี้ยังไม่คิดเพิ่มระยะเป็นฮาล์ฟมาราธอนเท้าเปล่าแต่อย่างใด เพราะจะเริ่มซ้อมสำหรับพัทยามาราธอนแล้ว ก็คงรักษาการวิ่งเท้าเปล่าสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 กม.ไปเรื่อยๆ ไว้จบพัทยามาราธอนค่อยว่ากันอีกที

อ้อ...รีวิวงานวิ่งนิดนึง เป็นงานที่เลิศเลอเฟอร์เฟ็กต์มาก แต่ที่ชอบเป็นพิเศษ 2 อย่างคือ ถ้วยรางวัลเป็นกระทิงนั่งไขว่ห้างกอดอก น่ารักโพดๆ อยากได้ และข้าวไข่เจียวที่แจกใช้จานและช้อนกระดาษ (ใช่!! ช้อนกระดาษ!!) ถ้าจัดอีกก็มาอีก แต่คงต้องเฝ้าหน้าจอกันเลยทีเดียว สมัยนี้งานวิ่งที่สมัครออนไลน์เต็มไวเฟร่อ

ถ้วยและเหรียญงานวิ่ง SET BULL RUN 2016

2 comments:

  1. ตอนนี้วิ่ง เพจเต่าๆ ซอยขาเยอะๆ ได้ที่ 8 กิโลกลังจากนั้นหมดแรงครับ... ปล. นน 96 กืโล

    ReplyDelete
    Replies
    1. ดีเลยค่ะ ซอยขาถี่จะประหยัดแรงกล้ามเนื้อ โอกาส over-stride ก็แทบไม่มี
      เคยเห็น อ.โยชิโนะวิ่ง ซอยถี่ยังกะนินจาเลย
      แต่โดยทั่วไปรอบขาถี่จะดึงให้หัวใจเต้นเร็วไปด้วย
      เลยต้องฝึกวิ่งช้าๆโซน 2-3 เพื่อให้หัวใจค่อยๆ แข็งแรงขึ้น

      Delete

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************