หน้าเว็บ

Friday, December 5, 2014

วิ่งทันโลก 17: เพราะวิ่ง...เราจึงเป็นเช่นฉะนี้ ภาคจบ

คอลัมน์วิ่งทันโลก
Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2557
โดย oorrunningblog



จากภาค 1 เราได้เล่าไปแล้วว่า ดร.แดเนียล ลีเบอร์แมน และ ดร. เดนิส แบรมเบิล ได้เสนอข้อสรุปอย่างหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ว่า ความสามารถในการวิ่งระยะไกล เป็นคุณสมบัติที่ทำให้บรรพบุรุษของเรารอดชีวิตมาสืบเชื้อสายต่อไป ไม่สูญพันธุ์เหมือน ออสตราโลพิเทคัส  (Australopithecus) ลิงไร้หางชนิดหนึ่งที่เป็นต้นตระกูล 

ข้อสรุปนี้สั่นสะเทือนวงการ เพราะขัดแย้งกับทฤษฎีที่รู้จักกันทั่วไปก่อนหน้านี้ที่ว่า การวิ่งเป็นเพียงผลพลอยได้ของการเดินตัวตรงโดยใช้สองขา (Bipedalism ) เท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนของวิวัฒนาการมนุษย์แต่อย่างใด


เพราะวิ่ง เราจึงเป็นเช่นฉะนี้



ก่อนเล่าต่อ ขอปูพื้นเรื่องการจำแนกสายพันธุ์สัตว์สักเล็กน้อย 

สัตว์ทั้งโลกสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ทั้งหมด 9 กลุ่ม หรือที่ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า 9 ไฟลัม แต่ละไฟลัมก็แยกเป็นกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มย่อยก็แยกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก เป็นเช่นนี้อีกหลายชั้นจนในที่สุดจะถึงกลุ่มย่อยที่สุด ซึ่งไม่สามารถแบ่งต่อได้อีกแล้วเรียกว่า สปีชีส์ 

สัตว์ใดที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกันจะถือว่าเป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน ไม่ว่าจะมีลักษณะปลีกย่อยแตกต่างกันเพียงใด เช่น มนุษย์ทั้งโลกคือสัตว์สปีชีส์ Homo Sapien ไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง แอฟริกัน หรือเอเชียก็ตาม 

กลุ่มย่อยที่อยู่ในลำดับสูงกว่าสปีชีส์เรียกว่าจีนัส เช่น แมวและเสืออยู่ในจีนัสเดียวกันที่ชื่อ Felis แต่อยู่กันคนละสปีชีส์ ส่วนมนุษย์นั้นอยู่ในจีนัสที่ชื่อ Homo มีเพื่อนร่วมจีนัสหลายสปีชีส์เช่น Homo habilis, Homo erectus แต่ทั้งหมดนี้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว คำว่า “บรรพบุรุษมนุษย์” ที่งานวิจัยนี้กล่าวถึง ว่าเกิดขึ้นและรอดชีวิตมาสืบเผ่าพันธุ์เพราะความสามารถในการวิ่ง ก็คือสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในจีนัส Homo นั่นเอง

Homo erectus หนึ่งในเพื่อนร่วมจีนัสของมนุษย์
Homo erectus หนึ่งในเพื่อนร่วมจีนัสของมนุษย์
Cr. apxeo.info 

เอาล่ะ ทีนี้กลับมาที่ข้อโต้แย้งของนักวิจัยทั้งสอง ดร.แดเนียล และ ดร. เดนิส ให้เหตุผลว่า สัตว์จีนัส Homo ซึ่งมีรูปร่างต่างจากบรรพบุรุษอย่างสิ้นเชิง ปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อ 2 ล้านปีที่แล้ว ในขณะที่ออสตราโลพิเทคัส เดินสองขาได้ตั้งแต่ 4.5 ล้านปีที่แล้ว นั่นแสดงว่ามีเวลาให้พวกเขาเดินตั้ง 2.5 ล้านปี แต่ออสตราโลพิเทคัสไม่เห็นจะวิวัฒนาการจนมีลักษณะใกล้เคียงมนุษย์เลย พวกเขายังคงเดินงุ่มง่าม และห้อยโหนต้นไม้แบบลิง ๆ อยู่ดี


“ดังนั้น การเดิน ไม่ได้ทำให้สัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นมาได้ การวิ่งต่างหากที่ทำเช่นนั้น ถ้าการคัดเลือกตามธรรมชาติไม่ได้เลือกให้การวิ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้รอดชีวิตแล้วละก็ ป่านนี้เราก็มีรูปร่างเหมือนลิงอยู่นั่นเอง” 

หลักฐานสนับสนุนก็คือ คุณสมบัติ 26 ประการของร่างกายมนุษย์ ซึ่งบางประการพบในฟอสซิลของ Homo สปีชีส์อื่นด้วย แต่ทั้งหมดไม่พบในฟอสซิลของออสตราโลพิเทคัสเลย จากการทดสอบพบว่า คุณสมบัติเหล่านี้ มีบางประการเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับการเดิน นอกนั้นออกแบบมาเพื่อให้เราวิ่งระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งสิ้น 

การเดิน ไม่ได้ทำให้สัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นมาได้
การเดิน ไม่ได้ทำให้สัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นมาได้
Cr. runnersworld

ตัวอย่างของคุณสมบัติดังกล่าวก็เช่น

กะโหลกศีรษะที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความร้อนเกินพิกัดเมื่อวิ่ง เนื่องจากเหงื่อจะซึมออกจากหนังศีรษะ หน้าผาก และใบหน้า รูปศีรษะที่มีความสมดุลมากขึ้นด้วยใบหน้าที่แบนกว่า ฟันที่เล็กกว่า และจมูก-ปาก-กรามที่เล็กกว่า เมื่อเทียบกับออสตราโลพิเทคัส ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของศีรษะเลื่อนมาด้านหลังมากขึ้น ช่วยให้ประคองศีรษะได้ง่ายกว่าเมื่อร่างกายต้องเคลื่อนที่ขึ้นลงในขณะวิ่ง

หัวไหล่ที่หมุนได้อย่างเป็นอิสระจากหัวและคอ ทำให้ลำตัวบิดได้ ในขณะที่หัวไม่ต้องบิดตาม ร่างกายที่มีลักษณะเพรียว ท่อนบนและท่อนล่างเคลื่อนไหวเป็นอิสระต่อกัน ทำให้เราสามารถใช้ร่างกายส่วนบนประคองสมดุลที่เสียไปเนื่องจากแรงบิดของขาขณะวิ่งได้ แขนท่อนล่างที่สั้นกว่า ทำให้ร่างกายส่วนบนประคองสมดุลกับร่างกายส่วนล่างได้ง่ายกว่าขณะวิ่ง นอกจากนี้ยังลดปริมาณพลังงานที่กล้ามเนื้อต้องใช้เพื่อการแกว่งแขนอีกด้วย

กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า ที่ใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับออสตราโลพิเทคัสที่มีน้ำหนักตัวพอๆ กับมนุษย์ ทำให้รับแรงกระแทกได้ดีกว่า เมื่อร่างกายกระทบพื้นขณะวิ่ง

ก้นของมนุษย์จัดว่าใหญ่เมื่อเทียบกับลิงไร้หางซึ่งไม่มีก้นเลย เป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญมากในการทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล เนื่องจากขณะวิ่ง มนุษย์จะเอนตัวไปด้านหน้า ก้นจึงทำหน้าที่ถ่วงเราไว้ไม่ให้หน้าคะมำ

เท้ามีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า มนุษย์จึงสามารถถีบตัวจากพื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าโดยใช้เส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าเหมือนเป็นสปริง นิ้วเท้าที่สั้นลงและนิ้วโป้งที่เคลื่อนไหวแยกจากนิ้วอื่นๆได้ ทำให้สามารถผลักเท้าขึ้นจากพื้นขณะวิ่งได้ดีขึ้น อีกทั้งกระดูกส้นเท้าที่ใหญ่กว่า ทำให้รับแรงกระแทกได้ดีกว่า 

Homo erectus ช่วยกันไล่เสือเขี้ยวดาบเพื่อแย่งซากแอนติโลป
Homo erectus ช่วยกันไล่เสือเขี้ยวดาบเพื่อแย่งซากแอนติโลป
Cr, chasingsabretooths

พูดง่ายๆว่า คุณสมบัติของร่างกายมนุษย์สอดคล้องกันตั้งแต่หัวจรดเท้า เพื่อรังสรรค์ให้เผ่าพันธุ์ของเราเป็นนักวิ่งระยะไกลนั่นเอง!!

ปลุกใจคนอ่านมา 2 ฉบับแล้ว พอจะฮึกเหิม เลิกคิดว่า “ฉันคงไม่ได้เกิดมาเป็นนักวิ่งหรอก” ได้หรือยังคะ ^ ^ เอาละ!! เพื่อไม่ให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็น Homo Sapien ... เราออกไปวิ่งกันเถอะ ลุย!!!

ที่มา
How Running Made Us Human


===============
วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)

No comments:

Post a Comment

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************