หน้าเว็บ

Friday, February 5, 2016

วิ่งทันโลก 30: Wearable Devices สวมใส่อะไรอีกดีหนอนักวิ่ง ?

คอลัมน์วิ่งทันโลก
Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนมกราคม 2559
โดย oorrunningblog

เชื่อว่าถึงวันนี้นักวิ่งทุกคนคงรู้จัก wearable devices – อุปกรณ์ไฮเทคชนิดสวมใส่ได้ กันแล้วนะคะ และหลายคนคงมีไว้ในครอบครองแล้วด้วย ซึ่งสำหรับนักวิ่งไอเท็มสุดฮิตก็หนีไม่พ้น เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจและนาฬิกา GPS ...ถามว่าของพวกนี้จำเป็นมั้ย? บอกได้เลยค่ะว่าไม่จำเป็น ถึงไม่มีก็วิ่งเก่งได้ แต่สำหรับคนที่ชอบเทคโนโลยี อุปกรณ์พวกนี้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและความสนุกให้กีฬาที่เรียบง่ายอย่างการวิ่งได้จริงๆ

ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนรักเทคโนโลยี วิ่งทันโลกฉบับปีใหม่นี้จึงขอนำเสนอ wearable device อื่นๆ ที่คิดว่านักวิ่งบ้าอุปกรณ์น่าจะสนใจ เลือกมาเฉพาะที่วางตลาดเรียบร้อยแล้วไม่ใช่เป็นแค่โปรเจคระดมทุน สำหรับคนยังไม่รู้จะเอาโบนัสไปทำอะไร ก็ตามไปสอยได้เลยค่ะ

Atlas สำหรับนักวิ่งสายเวทฯ


Atlas สำหรับนักวิ่งสายเวทฯ


เป็นที่ทราบกันดีว่านักวิ่งควรเล่นเวทเทรนนิง (weight training) หรือที่แปลเป็นไทยว่า การสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกล้ามเนื้อแกนลำตัว (core body) เพราะกล้ามเนื้อชุดนี้ทั้งช่วยเราออกแรงถีบเท้าขึ้นจากพื้น ช่วยรับแรงเมื่อเท้ากระทบพื้น และช่วยควบคุม “ทรงวิ่ง” ให้มีประสิทธิภาพ ท่าที่ต้องเล่นได้แก่ท่าจำพวก plank/lunge/squat ทั้งหลาย หรือแม้แต่นักวิ่งที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเฉยๆ ไม่ได้ต้องการความเป็นเลิศ การเล่นเวทฯ ก็ยังถือเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน องค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ว่า สำหรับคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ ควรเล่นเวทฯ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์

Atlas เป็น activity tracker ในรูปแบบนาฬิการะบบสัมผัส ที่ออกแบบมาเพื่อสายเวทเทรนนิงโดยเฉพาะ ด้วยเซ็นเซอร์ความเร่งแบบ 3 แกนและโปรแกรมจดจำรูปแบบ ทำให้มันรู้ว่าตอนนี้คนที่สวมใส่กำลังเวทฯ ท่าอะไรอยู่และทำกี่ครั้ง แยกแยะได้ละเอียดถึงขนาดที่รู้ว่า เรากำลังซิทอัพโดยเอามือแตะไว้ที่ขมับ ประสานไว้หลังศีรษะ หรือกอดอก ซิทอัพขึ้นมาเต็มตัว หรือยกแค่หลัง (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ครันช์) ฯลฯ

Atlas สำหรับนักวิ่งสายเวทฯ


Atlas จะเก็บสถิติการออกกำลังกายให้ว่าวันนี้เราเวทท่าอะไร กี่ครั้ง ใช้น้ำหนักเท่าไหร่ (ถ้ามี) เผาผลาญแคลอรีไปเท่าไหร่ แบบเดียวกับ running log ของนาฬิกา GPS นั่นเอง นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกโปรแกรมฝึกซ้อมจากแอพฯ แล้วส่งเข้านาฬิกา มันจะบอกให้เราเวทไปทีละท่าตามที่โปรแกรมกำหนดพร้อมทั้งจำนวนเที่ยว และสั่นเตือนเมื่อพบว่าทำท่านั้นๆ ครบจำนวนแล้ว ในอนาคตผู้ผลิตจะพัฒนาให้ Atlas สามารถเตือนเราเมื่อท่าเพี้ยนได้อีกด้วย เรียกว่าไม่ต้องจ้าง PT กันเลยทีเดียว ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ก็เช่น นับจำนวนก้าว วัดหัวใจแบบแสง

ปัจจุบัน Atlas เรียนรู้ท่าได้ 50 ท่า ใช้ได้กับทั้ง iOS และ Android ราคา 249 USD ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.atlaswearables.com

Spire สำหรับนักวิ่งสายเซน


Spire สำหรับนักวิ่งสายเซน


นักวิ่งสายเซนในที่นี้ เราหมายถึง คนที่วิ่งเพราะต้องการผลด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเพื่อสร้างสมาธิ หรือคลายเครียด ในแง่ของการสร้างสมาธิ เนื่องจากการวิ่งเป็นกีฬาที่อยู่กับตัวเอง มีการก้าวเท้าและการหายใจที่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ จึงใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อรวบรวมสติได้ และหากวิ่งถึงระดับที่เหนื่อยปานกลางขึ้นไปในเวลาที่ยาวนานพอ สมองจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด สารนี้มีผลข้างเคียงคือทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย การวิ่งจึงสามารถคลายเครียดได้นั่นเอง

ถามว่าแล้วตอนที่ไม่ได้วิ่งล่ะ ถ้าอยากได้สมาธิหรืออยากคลายเครียดจะทำยังไง ? คำตอบคือ ควบคุมการหายใจค่ะ

จากงานวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางสมองพบว่า สภาวะจิตใจบางอย่างส่งผลต่อรูปแบบการหายใจโดยที่เราไม่รู้ตัว และในทางกลับกัน รูปแบบการหายใจก็ส่งผลต่อสภาวะจิตใจได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเราต้องการให้จิตใจเกิดสภาวะเหล่านั้น อันได้แก่ สภาวะสมาธิ (focus) และสภาวะผ่อนคลาย (calm) ก็สามารถทำได้ด้วยการควบคุมการหายใจให้มีรูปแบบที่เหมาะสมนั่นเอง

Spire สำหรับนักวิ่งสายเซน


Spire เป็น activity tracker ที่คอยตรวจสอบลักษณะการหายใจของเราจากการเคลื่อนไหวของท้องหรือหน้าอก โดยมันจะวัดความถี่ ความสม่ำเสมอ และความตื้นลึกของการหายใจเข้าออก แล้วประมวลผลออกมาเป็นสภาวะจิตใจ 3 รูปแบบคือ สมาธิ ผ่อนคลาย และตึงเครียด (tense)

Spire ทำงานร่วมกับแอพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ดังนั้นเราจึงสามารถดูลักษณะการหายใจในขณะนี้ได้ว่าเป็นอย่างไรได้ในรูปแบบของกราฟ สามารถตั้งให้สมาร์ทโฟนแจ้งเตือนได้ เมื่อ Spire พบว่าคุณกำลังหายใจแบบคนที่มีความตึงเครียด พร้อมทั้งมีโปรแกรมให้หายใจตามคำแนะนำเพื่อคลายเครียด มีระบบให้คะแนนการหายใจ และสรุปผลว่าในแต่ละวันเราอยู่ในสภาวะจิตแต่ละแบบอย่างละกี่นาที เมื่อมีการวัดผลที่ออกมาเป็นตัวเลขชัดเจน ก็ทำให้เราฝึกฝนการหายใจได้ง่ายขึ้นและสนุกขึ้น

ปัจจุบัน Spire ใช้ได้กับระบบ iOS เท่านั้น ส่วนระบบ Android ยังอยู่ในระหว่างพัฒนา ราคา 150 USD ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.spire.io

แหล่งอ้างอิง

วิดีโอการบรรยาย Core Strength for Runners โดย นพ.เบญจพล เบญจพลากร
รู้งี้ผอมไปนานแล้ว โดย สาธิก ธนะทักษ์ (โค้ชเป้ง)


========================================
อ่านนิตยสาร Thai Jogging Magazine ฉบับเดือนมกราคมแบบออนไลน์



วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)

No comments:

Post a Comment

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************