หน้าเว็บ

Thursday, June 5, 2014

วิ่งทันโลก 12: มารู้จักโอเรียนเทียริง (Orienteering) กันเถอะ

คอลัมน์วิ่งทันโลก
Thai Jogging Magazine ฉบับประจำเดือนเมษายน 2557
โดย oorrunningblog


สองสามปีก่อน เคยมีคนปรารภในเว็บบอร์ดของชมรมวิ่งแห่งหนึ่งว่า ไม่ชอบกีฬาวิ่งเพราะรู้สึกว่าไม่ได้ใช้สมองอะไร ใช้แต่กำลังอย่างเดียว กระทู้นี้ร้อนแรงยิ่งนัก เพราะสามารถตีความให้รู้สึกเหมือนโดนด่าทางอ้อมได้ ว่าที่ตนเองวิ่งเก่งหรือหลงใหลการวิ่งอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะเป็นมนุษย์ประเภทสมองน้อย- กำลังเยอะ 

นักวิ่งโอเรียนเทียริง กำลังออกจากจุดควบคุม
Cr. portugueseorienteeringblog

แต่จากการซ้อมวิ่งเกือบทุกวัน เดือนละ 200 กม. ขึ้นไป เราในตอนนั้นที่เพิ่งติดวิ่งใหม่ๆ กลับเห็นสอดคล้องกับเจ้าของกระทู้ ว่าในขณะวิ่ง-ไม่ว่าจะแข่งหรือซ้อม ไม่มีกลยุทธ์ใดๆ ทั้งนั้น ที่จะต้องผลิตจากสมอง สิ่งที่ต้องผลิตมีก็แต่เพียง “กำลัง”เท่านั้น ทั้งกำลังกายและกำลังใจ และถ้าอยากเป็นผู้ชนะ คุณก็เพียงต้องทำสถิติให้ดีกว่าคู่แข่ง...ตรงไปตรงมาเพียงเท่านี้... แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าการวิ่งเป็นกีฬาของคนไม่มีสมอง เพียงแต่เราเก็บสมองไว้ทำเรื่องอื่นที่จำเป็นเท่านั้น และอันที่จริง รอบตัวเราก็มีการแข่งขันทำนองนี้เยอะแยะอาทิเช่น ประกวดนางงามก็ต้องเฟ้นหาคนที่สวย ประกวดนักร้องก็ต้องเฟ้นหาคนที่เสียงดี จะมีประโยชน์อะไรถ้าได้นางงามหน้าปลวก นักร้องเสียงเป็ดแต่ไอคิว 180 

อย่างไรก็ตาม โลกนี้ยังมีการแข่งขันวิ่งอีกแบบที่ต้องใช้สมองด้วย และวันนี้วิ่งทันโลกจะแนะนำให้ได้รู้จักกันค่ะ มันคือโอเรียนเทียริง (Orienteering) หรือเรียกอีกอย่างว่า การวิ่งแผนที่เข็มทิศ นั่นเอง



ประวัติ

โอเรียนเทียริงมีต้นกำเนิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (อันหมายถึงปี ค.ศ. 18xx ปลายๆ) ในประเทศสวีเดน ชื่อของมันมาจากคำในภาษาสวีดิชว่า orientering ซึ่งแปลว่าการข้ามดินแดนที่ไม่รู้จักโดยใช้แผนที่และเข็มทิศนำทาง ในช่วงแรกเป็นกีฬาที่เล่นกันอยู่เฉพาะในกองทัพเท่านั้น จนเมื่อปี 1897 จึงได้เปิดให้พลเรือนเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก

เข็มทิศที่ใช้ในการแข่งขันโอเรียนเทียริง
เข็มทิศที่ใช้ในการแข่งขันโอเรียนเทียริง Cr. wikipedia

หลังจากการถือกำเนิด 30 กว่าปี โอเรียนเทียริงจึงเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเพิ่งมีการประดิษฐ์เข็มทิศที่ราคาไม่แพงและมีความแม่นยำ ในที่สุดเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โอเรียนเทียริงก็เป็นที่รู้จักของคนทุกทวีป ล่าสุด สมาพันธ์โอเรียนเทียริงนานาชาติ (IOF- International Orienteering Federation) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการแข่งขันโอเรียนเทียริง ทำนองเดียวกับที่ IAAF ดูแลการแข่งขันกรีฑา มีสมาชิกแล้วทั้งหมด 76 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ในบ้านเรา กีฬาชนิดนี้เล่นกันอยู่แต่ภายในกองทัพเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดแข่งขันที่เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ โดยในตอนนั้น อ. สถาวร จันทร์ผ่องศรี บรรณาธิการของเราได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน และสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้อีกด้วย ท่านได้เล่าให้ฟังว่า เป็นกีฬาที่สนุกสนานท้าทาย สร้างความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

แผนที่ที่ใช้ในการแข่งขันโอเรียนเทียริง
แผนที่ที่ใช้ในการแข่งขันโอเรียนเทียริง Cr. wikipedia

ลักษณะการแข่งขัน

จริงๆ แล้วโอเรียนเทียริงเป็นคำเรียกรวม ของกีฬาประเภทที่ต้องเดินทางในพื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่อไปยังจุดต่างๆ ที่กำหนด โดยอาศัยแผนที่และเข็มทิศนำทาง โดยการเดินทางจะเป็นแบบใดก็ได้ อาทิเช่น ถ้าเดินทางโดยเรือแคนูก็จะเรียกว่า Canoe orienteering ถ้าเดินทางด้วยจักรยานเสือภูเขาก็จะเรียกว่า Mountain bike orienteering แต่สำหรับโอเรียนเทียริงที่กล่าวถึงในที่นี้ ใช้การเดินทางด้วยเท้า ชื่อเต็มๆ ของมันจึงเป็น Foot orienteering นั่นเอง

การแข่งขันส่วนใหญ่นิยมจัดในพื้นที่ธรรมชาติ ที่มีความสวยงามและมีภูมิประเทศหลากหลาย เช่นป่าที่มีทั้งบริเวณป่าโปร่ง ป่าทึบ ลำธาร บึง โขดหิน เนินเขา ทั้งนี้เพื่อทดสอบการตัดสินใจและทักษะการใช้แผนที่และเข็มทิศ เนื่องจากการเดินทางไปยังจุดที่กำหนดแต่ละจุด ซึ่งเรียกว่าจุดควบคุม (control point) อาจจำเป็นต้องใช้เส้นทางที่ไม่เป็นเส้นตรง เพราะมีภูมิประเทศอันเป็นอุปสรรคกีดขวางอยู่

ก่อนปล่อยตัว นักกีฬาจะได้รับแจกเข็มทิศและแผนที่ซึ่งทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการแข่งขันโอเรียนเทียริงโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะมีเส้นบอกระดับความสูงของพื้นที่แล้ว ยังบอกลักษณะของภูมิประเทศด้วย เช่นบริเวณนี้เป็นป่า พื้นที่เพาะปลูก ลำธาร ฯลฯ โดยใช้สัญลักษณ์ที่กำหนดเป็นมาตรฐานจาก IOF เพื่อให้นักกีฬาทุกชาติทุกภาษาเข้าใจตรงกัน

บัตรควบคุมสำหรับการแข่งขันโอเรียเทียริง
บัตรควบคุมสำหรับการแข่งขันโอเรียเทียริง Cr. wikimedia

นอกจากนี้นักกีฬายังต้องถือกระดาษสำหรับทำเครื่องหมาย หรือที่เรียกว่าบัตรควบคุม (control card) ติดตัวไปด้วย เมื่อไปถึงจุดควบคุมแต่ละจุดซึ่งมีสัญลักษณ์มาตรฐานเหมือนกันทั่วโลกคือ ธงสีส้ม-ขาว ก็ให้นำเครื่องเจาะกระดาษที่จุดนั้น เจาะบัตรควบคุมในช่องที่กำหนดไว้ รูปแบบของเข็มเจาะจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านักกีฬาได้ผ่านจุดควบคุมนั้นๆ จริงหรือไม่ และเพื่อป้องไม่ให้นักกีฬาวิ่งตามกัน โดยไม่ใช้แผนที่โดยปกติจะทำการปล่อยตัวทีละคน ห่างกันอย่างน้อย 1 นาที หรือมิฉะนั้นก็ปล่อยตัวคนละจุด รอบบริเวณแข่งขัน


วิธีการหาผู้ชนะ

มีสองแบบแล้วแต่จะกำหนด นั่นคือแบบเก็บคะแนนและแบบทำเวลา โดยในแบบแรก จุดควบคุมแต่ละจุดจะมีคะแนนให้ไม่เท่ากันแล้วแต่ความยากง่าย นักกีฬาจะต้องพยายามวิ่งหาจุดควบคุมให้ได้คะแนนมากที่สุดและต้องกลับมาที่เส้นชัยให้ทันเวลาที่กำหนด กรณีที่กลับมาล่าช้าจะถูกหักคะแนนตามจำนวนนาที ผู้ชนะคือผู้ที่ได้คะแนนสะสมสูงที่สุด

อีกแบบหนึ่ง ซึ่งนิยมกันมากกว่าคือแบบทำเวลา นักกีฬาจะต้องวิ่งผ่านจุดควบคุมทุกจุด ผู้ชนะคือผู้ที่ทำเวลานับแต่ปล่อยตัวจนถึงเข้าเส้นชัยได้น้อยที่สุด

นักวิ่งโอเรียนเทียริง กำลังออกจากจุดควบคุม
Cr. UVHS Orienteering

ประเภทการแข่งขัน

เวลาดังกล่าวนี้เองจะเป็นตัวกำหนด “ระยะทาง” ของการแข่งขันโอเรียนเทียริง เนื่องจากกีฬาชนิดนี้ไม่สามารถระบุระยะทางได้แน่นอนเหมือนการวิ่งถนน ที่แบ่งเป็นฟูลมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน ฯลฯ โอเรียนเทียริงจึงกำหนดไว้ว่า การแข่งขันประเภทระยะไกลหรือคลาสสิก คือการแข่งขันที่ผู้ชนะต้องใช้เวลาประมาณ 75-90 นาที เนื่องจากต้องวิ่งผ่านพื้นที่กว้างใหญ่ และภูมิประเทศยากลำบาก ส่วนประเภทระยะกลาง ผู้ชนะต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเพราะกำหนดจุดควบคุมจำนวนน้อยกว่า และสุดท้ายคือระยะสปรินท์ ซึ่งผู้ชนะจะใช้เวลาเพียง 12-15 นาทีเท่านั้น เพราะมักจัดในพื้นที่เล็กๆ เช่นตามสวนสาธารณะหรือสถานที่อื่นๆในเมือง และใช้จุดควบคุมเป็น ม้านั่ง ถังขยะ รูปปั้น ฯลฯ ที่พบได้ทั่วไปในสวนนั้น 

เป็นยังไงบ้างคะ อ่านแล้วรู้สึกอยากลองวิ่งแบบใช้สมองกับโอเรียนเทียริงกันบ้างหรือยัง น่าเสียดายที่ในเมืองไทยมีการแข่งขันเฉพาะในกีฬาของกองทัพบกและกองทัพเรือ ดังนั้นถ้าอยากลองจริงๆ ก็คงต้องวิ่งที่ต่างประเทศไปพลางๆ ก่อน ที่ใกล้บ้านเราที่สุดคือฮ่องกง แต่ก็ไม่แน่นะคะ เร็วๆ นี้อาจมีการจัดสาธิตการแข่งขันโอเรียนเทียริง เพื่อตอบสนองนักวิ่งที่ต้องการความสนุกสนาน ท้าทาย แปลกใหม่ แถมยังได้สัมผัสธรรมชาติไปในตัวอีกด้วย...คอยติดตามด้วยใจระทึกพลันค่ะ ^ ^

ที่มา 

http://en.wikipedia.org/wiki/Orienteering
http://orienteering.org/

========================================
ทดลองอ่านนิตยสาร Thai Jogging Magazine ฉบับย้อนหลัง
วารสาร Thai jogging เป็นวารสารของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย พิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พศ.2545 เฉพาะสมาชิก สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ สนใจสมัครเป็นสมาชิก ติดต่อได้ที่สำนักงานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โทรศัพท์ 0-2455-9149 ค่าจัดส่งวารสารทางไปรษณีย์ปีละ 300บาท (12ฉบับ)

No comments:

Post a Comment

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************