Wednesday, April 26, 2017

ก๊อกสอง | 1 comment:

วันเสาร์ที่ผ่านมาเราไปเข้าค่าย Blogger Bootcamp ที่จัดโดย CP ALL มาค่ะ เค้าเชิญตัวพ่อตัวแม่ในวงการ blogger รวมทั้ง ครีเอทีฟและนักเขียน มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังพร้อมคำแนะนำที่น่าสนใจมากมาย โพสต์นี้เราเลยเขียนขึ้นโดยใช้คำแนะนำที่เราเห็นว่าเข้าท่า น่าหยิบยืมมาใช้ ดังนี้ (จริงๆ มีไอเดียที่เราชอบอีกเยอะ แต่เก็บไว้ก่อน ค่อยทยอยปล่อยของไปนะแก)


  • โปรยด้วยโควทคมๆ อ่านแล้วเรียกแขก ต่อด้วยเนื้อหาที่เป็นฝั่งเดียวกับคนอ่าน แล้วค่อยตบด้วยเรื่องที่ขัดแย้งกัน (จากคุณบี จากเพจ HR - The Next Gen)
  • จินตนาการผู้อ่าน และบรรยากาศรอบตัวในขณะที่เล่าเรื่อง (จากคุณบี จากเพจ HR - The Next Gen) เราจินตนาการว่าตัวเองกำลังอยู่ในสนาม 400 เมตรของมหาลัย เล่าเรื่องนี้ให้นักเรียนที่กำลังนั่งพักเหนื่อยอยู่ข้างสนามหลังจากลงคอร์ต
  • ทำ brand ให้มีความ “เวร” นิดๆ ก็ได้ แบรนด์จะได้สนิทสนมกับลูกค้า ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น (จากคุณ Benz&วิชัย จากแซลมอนเฮาส์) แบรนด์คือตัวเราเอง ลูกค้าคือคนอ่าน (ซึ่งจุดเริ่มต้นคืออยากเขียนให้นักเรียนอ่าน) ...ส่วนความเวรอะเหรอ...ปกติไม่เวรนะ แค่กวนประสาทนิดหน่อย จัดสิ่งนี้ไปแทน

อ่ะ...ทีนี้มาอ่านกัน 

====================




โค้ช วินซ์ ลอมบาดีเคยกล่าวไว้ว่า "Fatigue makes cowards of us all"

…ความเหนื่อยล้าทำให้เราขี้ขลาด…

เชื่อว่านักวิ่งทุกคนคงเข้าใจโควทนี้อย่างถึงกึ๋น

ตั้งใจว่าวันนี้จะวิ่งยาว 32 กม. แต่วิ่งได้แค่ 28 กม. ก็ขาลากแล้ว เลยบอกตัวเองว่าพอแค่นี้แล้วกัน วิ่งเยอะกว่านี้เดี๋ยวบาดเจ็บ

หรืออยากลงคอร์ต 2K * 3 ด้วยความเร็วระดับ shot tempo แต่วิ่งหอบพะงาบๆไปได้แค่ 2 เที่ยว ขาก็ล้าปรี๊ดขึ้นมาฉับพลันจนแทบยกไม่ขึ้น เลยบอกตัวเองว่าเที่ยวสุดท้ายจ็อกแล้วกัน คราวหน้าค่อยแก้ตัวใหม่ เดี๋ยวหัวใจวายตายซะก่อน

เรารู้...เพราะเราก็เป็น ^ ^

แต่รู้หรือไม่ ในโลกของวิทยาศาสตร์การกีฬา มีทฤษฎีหนึ่งพูดไว้กลับกันว่า "Cowardice produces fatigue"

…ความขลาดทำให้เราเหนื่อยล้า…


โดยทั่วไปเราเชื่อกันว่า การที่กล้ามเนื้ออ่อนล้า เป็นเพราะแลคติกท่วม ไกลโคเจนหมด แต่ Timothy Noakes ศาสตราจารย์เจ้าของทฤษฎีอันโด่งดังนี้ เสนอว่า ความอ่อนล้าเป็นแค่ความรู้สึกชนิดหนึ่งเท่านั้น สมองสร้างความรู้สึกนี้ขึ้นมาเพราะอยากปกป้องเรา

เมื่อพบว่าร่างกายกำลังทำงานหนัก หัวใจสูบฉีดเลือดรุนแรง พลังงานสำรองลดลงอย่างรวดเร็ว ระบบหนึ่งของสมองที่เรียกว่า Central Governor จะเข้ามาแทรกแซง เพราะมันกลัวเราตาย โดยมันจะสั่งให้กล้ามเนื้อล้าและสั่งให้เรารู้สึกเหนื่อยเกินจริง เราจะได้หยุดกิจกรรมนั้นซะ ทำนองเดียวกับที่เรารู้สึกขยะแขยงจนกินข้าวต่อไม่ลง เมื่อเจอขาแมลงสาบในจาน เพราะสมองไม่อยากให้เรากินของสกปรกนั่นแหละ ^ ^”


นั่นแปลว่า ความเหนื่อยล้า เป็นเพียงระบบเตือนภัยขั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่ขีดจำกัดที่แท้จริง
เราทุกคนต่างมี “ก๊อกสอง” 
เพียงแต่จะกล้าหือกับสมอง แล้วเดินเข้าไปเปิดก๊อกนี้หรือไม่เท่านั้นเอง



ในการแข่งขันวิ่ง
มันจะมีห้วงเวลานึงที่ตัดสินแพ้ชนะ
ห้วงเวลานี้ มักเกิดตอนใกล้ถึงเส้นชัย

ในตอนนั้น สิ่งที่กำหนดการแพ้ชนะไม่ใช่ร่างกายอีกต่อไป
แต่คือความคิดของนักวิ่ง
คนได้ลำดับรองๆ จะเป็นคนที่ในห้วงเวลานั้น เขารับสภาพแล้วว่าตัวเองจะอยู่ในลำดับนี้ 
และไม่คิดจะใส่ความพยายามใดๆลงไปอีก

แต่คนเป็นแชมป์แค่ยืนยันจะปฏิเสธลำดับที่เป็นอยู่

- Tim Noakes
(อ่านเอาคมๆ อ่านเอาแรงบันดาลใจนะแก อย่าถามว่า...อ้าวแล้วถ้าไอ้คนชนะมันนำอยู่ล่ะ เจ๊ตอบให้ไม่ได้ ไปถามทิมเอาเองจ่ะ )

ปล. ดัดแปลงจากโพสต์ที่เขียนให้เพจ 10K Thailand Championship เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ดูต้นฉบับได้ ที่นี่ 

#SamsungGalaxy10k

#bloggersbootcamp

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...