Friday, August 29, 2014

Heart Rate Monitor สำหรับนักวิ่ง | 2 comments:

ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า Heart Rate Monitor (HRM) ที่ใช้กันในหมู่นักวิ่ง ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 แบบ เรียงตามราคาจากน้อยไปมากคือ
  • แบบนิ้วแตะ
  • แบบคาดอก
  • แบบวัดด้วยแสง
แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป 

1) แบบนิ้วแตะ

โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นแถบโลหะอยู่บริเวณขอบหน้าปัดนาฬิกา เวลาอยากรู้อัตราการเต้นของหัวใจ ก็เอานิ้วแตะไปที่แถบโลหะดังกล่าว ด้านบนและล่างของหน้าปัดด้านละนิ้วพร้อมกัน ค่า HR ก็จะแสดงขึ้นมาบนหน้าจอนาฬิกา เป็นครั้งคราวไป

ข้อดี: ไม่ต้องมีสายคาดอก ใช้นาฬิกาเรือนเดียวจบ ดูเวลาก็ได้ วัดหัวใจก็ได้

ข้อเสีย: ไม่สะดวกถ้าใช้ขณะวิ่งหรือปั่นจักรยาน เพราะต้องแตะและรออีกหลายวินาที กว่าอุปกรณ์จะอ่านค่าได้ และบางทีแตะแล้วก็ไม่ยอมอ่านค่าซะงั้น

ช่วงที่เราเข้าวงการวิ่งถนนใหม่ๆ ก็ใช้นาฬิกาประเภทนี้ค่ะ จำยี่ห้อไม่ได้เพราะมันนานมากแล้ว แต่ยังมีรูปไว้เป็นอนุสรณ์ ดูได้จากโพสต์ งานวิ่งครั้งแรกในชีวิต กรุงเทพมาราธอน 2010 ส่วนรูปข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างเฉยๆ จริงๆ แล้วมีแบบที่ราคาถูกกว่านี้มาก ในระดับไม่เกิน 1,000 บาท

Timex Health Touch™ Plus Heart Rate


2) แบบคาดอก (อ่านว่า คาด-อก ไม่ใช่ คา-ดอก ^ ^)

โดยทั่วไปจะเป็นสายทำจากยางยืด เพื่อคาดให้กระชับบริเวณใต้ราวนม มีตัวส่งสัญญาณเป็นพลาสติก ซึ่งเมื่อคาดแล้วจะแปะอยู่บริเวณลิ้นปี่ ชิ้นส่วนดังกล่าวจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณที่วัดได้ไปยังนาฬิกาหรือโทรศัพท์ที่รองรับการทำงานร่วมกัน (compatible) นาฬิกาหรือโทรศัพท์ก็จะประมวลสัญญาณ แปลค่าเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ แล้วแสดงออกมาทางหน้าปัดหรือหน้าจอ

ข้อดี : 
  • อ่านอัตราการเต้นของหัวใจแบบต่อเนื่องได้ตลอดการออกกำลังกาย นิ้ว(และแขน)เป็นอิสระ ไม่ต้องคอยมาแตะหน้าปัดนาฬิกา 
  • แม่นยำที่สุดในบรรดา HRM แบบสวมใส่ได้ (ที่แม่นจริงๆ และใช้เป็นมาตรฐานคือเครื่อง EKG ในโรงพยาบาล)
ข้อเสีย :
  • ก่อนการใช้งานต้องเอาน้ำพรมอิเลคโทรดซึ่งแปะอยู่กับสายคาดอกเพื่อให้เกิดการนำไฟฟ้า ไม่งั้นจะวัดค่าไม่ได้ 
  • ต้องคาดให้แน่น เพื่อไม่ให้เลื่อนหลุดลงมาที่เอวเมื่อวิ่งไปนานๆ ทำให้รู้สึกอึดอัด
  • และปัญหาที่พบมากคือ ผู้หญิงหลายคนโดนสายคาดอกบาดผิว จนต้องถอดใจเลิกใช้ไปในที่สุด


คลิปสาธิตการใช้สายคาดอก

3) แบบวัดด้วยแสง หรือที่เรียกว่า Optical HRM

โดยทั่วไปจะเป็นสายคาดข้อมือ ที่ต้องคาดขึ้นมาเหนือตำแหน่งที่เคยคาดนาฬิกาเล็กน้อย เพื่อให้แนบกระชับกับผิวหนัง บางแบบจะมาพร้อมกับหน้าจอเหมือนเป็นนาฬิกาอันนึง บางแบบมาแต่สายคาด ต้องใช้คู่กับนาฬิกาหรือโทรศัพท์ที่รองรับการทำงานร่วมกัน 

ข้อดี: อ่านอัตราการเต้นของหัวใจแบบต่อเนื่องได้ตลอดการออกกำลังกาย นิ้ว(และแขน)เป็นอิสระ ไม่ต้องคอยมาแตะหน้าปัดนาฬิกา ไม่ต้องอึดอัดและเจ็บตัวจากสายคาดอก

ข้อเสีย : 

  • แพง และถ้าเทคโนโลยีไม่ดีพอ เมื่อวิ่งเร็วๆ หรือแขนต้องเคลื่อนที่แรงๆ จะทำให้อ่านค่าไม่ได้หรือผิดพลาดเยอะ
  • ยี่ห้อส่วนใหญ่ในท้องตลาดวัดค่า R-R interval คลาดเคลื่อน ดังนั้นจึงไม่เหมาะถ้าต้องการหาค่า recovery time  
คลิกที่รูปเพื่อขยาย Cr. marcoaltini.com
รูปด้านบนแสดงความแม่นยำในการวัด HR ของ HRM แบบวัดด้วยแสง (Mio Alpha) และแบบคาดอก (Polar H7) เทียบกับค่าอ้างอิงที่วัดจากเครื่อง EKG จะเห็นว่าแบบวัดด้วยแสง แม้จะมีความคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ก็ถือยอมรับได้ 

คลิกที่รูปเพื่อขยาย Cr, marcoaltini.com

รูปด้านบนแสดงความแม่นยำในการวัด R-R interval ของ HRM แบบวัดด้วยแสง (Mio Alpha) และแบบคาดอก (Armour 39 และ Polar H7) เทียบกับค่าอ้างอิงที่วัดจากเครื่อง EKG จะเห็นว่าแบบวัดด้วยแสงมีความคลาดเคลื่อนมากเมื่อเทียบกับแบบคาดอก

การทำงานของ Optical HRM

ปกติแล้วจะประกอบไปด้วยเซนเซอร์ 2 ชนิด คือ เซนเซอร์ที่ใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และเซนเซอร์ที่ใช้วัดการเคลื่อนไหว

ในส่วนของการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ใช้เทคนิคที่เรียกว่า photoplethysmography (PPG) โดยจะมี LED สีเขียว 2 ดวง ทำหน้าที่ฉายแสงผ่านผิวหนังลงไปสู่เส้นเลือด ในขณะเดียวกัน เซนเซอร์วัดแสงก็จะวัดว่ามีแสงสะท้อนขึ้นมามากน้อยแค่ไหน ยิ่งเลือดในหลอดเลือดมีสีเข้มมากเท่าไหร่ แสงก็จะสะท้อนกลับมาน้อยลงเท่านั้น สีของเลือดในหลอดเลือดนั้นจะเข้มขึ้นชั่วขณะหนึ่งทุกครั้งที่หัวใจสูบฉีดเลือด ดังนั้นเมื่อนำค่าความเข้มแสงในช่วงเวลาหนึ่งไปประมวลผล ก็จะรู้ได้ว่า หัวใจเต้นไปกี่ครั้ง

ปล. บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า Pulse oximetry มันคือหลักการเดียวกันนั่นเอง

ถ้าผู้ใช้อยู่นิ่งๆ ลำพังเพียงการใช้เซนเซอร์วัดแสง ก็เพียงพอที่จะให้ค่า HR ที่ถูกต้องได้แล้ว แต่ถ้าผู้ใช้เคลื่อนที่อย่างรุนแรง เช่นในกรณีวิ่งเร็ว เลือดในเส้นเลือดก็จะเคลื่อนที่ไปด้วย ซึ่งทำให้การประมวลผลผิดพลาด เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงต้องมีเซนเซอร์อีกตัวไว้วัดการเคลื่อนที่ของร่างกาย เพื่อนำข้อมูลนี้ไปหักออกจากข้อมูลที่ได้รับจากเซ็นเซอร์ตัวแรกนั่นเอง

ที่มา
research.philips.com
fwthinking.com

สำรวจ Optical HRM สำหรับนักวิ่ง ยี่ห้อต่างๆ



Mio ALPHA และ Mio LINK mioglobal.com


เป็น Optical HRM ที่นำมาใช้เพื่อนักกีฬาเจ้าแรกในตลาด ซื้อเทคโนโลยีจาก Phillips อันเดียวกับที่ได้เล่าไปในหัวข้อที่แล้ว
ALPHA  ราคา 199 USD มาพร้อมกับหน้าจอ ใส่เป็นนาฬิกาได้เลย (แต่ไม่มี GPS นะคะ) ส่วน LINK ราคา 99 USD แสดงผลด้วยหลอดไฟ LED เท่านั้น ถ้าอยากเห็นเป็นตัวเลข ต้องใช้ร่วมกับนาฬิกาหรือโทรศัพท์ที่ compatible

เราเอง ใช้ LINK ร่วมกับนาฬิกา GARMIN FR220 มาตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว ส่วนตัวพึงพอใจมากถึงมากที่สุด เมื่อเทียบกับ HRM สองแบบแรกที่เคยใช้ ไว้มีเวลาจะมารีวิวให้อ่านกันนะคะ


Mio ALPHA และ Mio LINK
Cr. hightechhealth.wordpress.com

Adidas SMART RUN micoach.adidas.com

ในส่วนของ Optical HRM ใช้เทคโนโลยีของ Mio (ดูข้างหลังเรือนก็จะเห็นโลโก้ของ Mio) เป็นนาฬิกา GPS ในตัวด้วย ครบเครื่องสำหรับนักวิ่งในราคา 400 USD 

Adidas SMART RUN
Cr. dcrainmaker.com

TomTom Runner Cardio และ TomTom Multisport Cardio tomtom.com

ในส่วนของ Optical HRM ใช้เทคโนโลยีของ Mio เช่นเดียวกับ Adidas SMART RUN
ทั้งสองรุ่นมี GPS ในตัว โดย TomTom Runner Cardio เป็นนาฬิกาสำหรับนักวิ่ง ราคา 270 USD ส่วน TomTom Multisport Cardio คือนาฬิกาสำหรับนักไตรกีฬา ราคา 300 USD

TomTom Runner Cardio และ TomTom Multisport Cardio
Cr. erenumerique.fr

สิ่งหนึ่งที่พึงสังวรณ์เมื่อจะซื้อนาฬิกาที่มี optical HRM ในตัวก็คือ ส่วนมากจะหนากว่านาฬิกาธรรมดา (เพราะต้องฝังโมดูล optical HRM เข้าไปด้วย) และมีหน้าจอใหญ่กว่านาฬิกาธรรมดา (เพื่อคลุมข้อมือในจุดที่ยิงแสง ไม่ให้แสงจากภายนอกเล็ดรอดเข้ามารบกวน)


Soleus GPS OPTI PULSE soleusrunning.com 


การออกแบบแตกต่างจากค่ายที่ใช้เทคโนโลยีของ Mio เพราะเอาโมดูล optical HRM มาไว้บนสายนาฬิกาแทนที่จะไว้หลังหน้าปัด ราคา 229 USD ถูกที่สุดในบรรดา นาฬิกา GPS ที่มี Optical HRM แต่จากรีวิวใน amazon พบว่าอาจต้องแลกมาด้วยความแม่นยำที่หายไปในตอนวิ่งเร็วๆ 


Soleus GPS OPTI PULSE

Garmin FR225

เป็นการนำนาฬิการุ่น FR220 มาใส่ Optical HRM ลงไป โดยใช้เทคโนโลยีของ Mio เช่นกัน รุ่นนี้ออกมาได้เพียง 4 เดือน การ์มินก็เปิดตัว FR235 มาแทนที่แล้ว โดยในเมืองไทยน่าจะเข้ามาขายประมาณปลายเดือนมกราคม 2559 สิ่งที่เหนือกว่าคือ มีฟังก์ชั่นประหยัดแบตเตอรี่แลกกับการเก็บข้อมูล GPS ที่หยาบขึ้น รองรับ speed/cadence sensor ของจักรยาน เปลี่ยนการแสดงผลเวลาบนหน้าปัดได้ และรับ notification ของโทรศัพท์มือถือได้ (ถ้าพกโทรศัพท์ไปวิ่งด้วย)

แต่ถ้าใครต้องการวิ่งอย่างเดียว ไม่พกโทรศัพท์ไปวิ่ง และไม่คิดจะวิ่งนานเกินครั้งละ 8 ชั่วโมง ใช้รุ่นนี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

ต้องการคู่มือการใช้งานภาษาไทยของ Garmin FR225 ดูที่นี่

การ์มิน FR225
การ์มิน FR225
ส่วนคนที่สนใจ FR235 ตอนนี้ร้าน Banana2U เปิดให้จองแล้ว มีของแถมคือคู่มือผู้ใช้ฉบับแปลไทย (ทางร้านจัดทำขึ้นเอง ถ้าซื้อจากที่อื่นจะได้เป็นคู่มือภาษาอังกฤษค่ะ) + ฟิล์มกันรอยหน้าจอ และบริจาค 100 บาทให้โครงการจัดหาเวชภัณฑ์สำหรับงานวิ่งจอมบึงมาราธอน 2559 ค่ะ


Garmin FR235 Banana2U


ดูรายละเอียดตาม link เลยค่ะ http://goo.gl/Lh0x2c หรือที่  https://goo.gl/wfVOnC

Scosche RHYTHM+  scosche.com


อีกหนึ่งทางเลือก สำหรับคนที่พก iphone วิ่งหรือมีนาฬิกาที่รองรับ ANT+/Bluetooth Smart อยู่แล้ว (เช่น FR220 และ FR620 เป็นต้น) ถ้าไม่ใช้ Mio Link ก็ใช้เจ้านี่แทนได้


Scosche RHYTHM+ ใช้เทคโนโลยี Optical HRM ของ Valencell ซึ่งเป็นอีกค่ายนอกจาก Mio ที่ใช้งานได้ดี สายคาดจะคาดตรงไหนก็ได้ที่มีเส้นเลือดใหญ่ไหลชัดๆ เช่น ขมับ (พูดจริง!!) ใต้ข้อพับ ต้นแขนบริเวณท้องแขน ผู้ผลิตเคลมว่ามีเทคโนโลยีพิเศษสำหรับคนผิวเข้มด้วย (ประมาณว่าก่อนหน้านี้ คนผิวเข้มมีปัญหาข้อมูล HR ผิดพลาดเมื่อใช้เทคนิค PPG แบบทั่วไป) ราคาย่อมเยากว่า Mio LINK อยู่ที่ 80 USD 


Scosche RHYTHM+ Dual ANT+/Bluetooth Smart Optical HR Band
Cr. dcrainmaker.com

PulseOn pulseon.com

PulseOn

นาฬิกา Optical HRM อีกตัวหนึ่งที่ไม่มี GPS เป็นทางเลือกของ  Mio ALPHA นอกจากจะใช้เทคโนโลยี optical HRM ที่วิจัยขึ้นโดยบริษัทที่น่าเชื่อถืออย่าง NOKIA แล้ว ยังใส่ฟีเจอร์สำหรับ วิเคราะห์ ประมวลผล Heart Rate มาอย่างเต็มพิกัด ไม่ได้แค่วัดเฉยๆ แล้วเลยผ่านไป ด้วย know-how ของ บ. First Beat ซึ่งเป็นเจ้าเดียวกับที่นาฬิกา GARMIN ใช้อยู่ Sync ข้อมูลได้กับทั้ง iOS และ Android เพรียวบางกว่า สวยกว่า (คหสต.)

ราคา Pre-order 169 USD ยังไม่วางตลาด เพราะเพิ่งจบการระดมทุนใน IndieGoGo ไป
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ facebook.com/pulseonhr



หมายเหตุ

Activity Tracker บางยี่ห้อ ก็สามารถวัดหัวใจได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยี Optical เช่นเดียวกัน
สิ่งที่แตกต่างระหว่างคุณสมบัติของ HRM ในนาฬิกานักวิ่ง กับใน Activity Tracker ก็คือ HRM สำหรับ activity tracker จะคลาดเคลื่อนเมื่อแขนเคลื่อนไหวรวดเร็ว เนื่องจากการใช้งานส่วนใหญ่ของอุปกรณ์ชนิดนี้ ออกแบบมาสำหรับการเคลื่อนไหวร่างกายในระดับปกติเช่นเดิน หรืออยู่นิ่งเช่นนั่งและนอน มากกว่า ตัวอย่างของ activity tracker เหล่านี้ก็เช่น Basis B1, Withings Pulse O2, Samsung Gear Fit และ Wellograph (อันหลังสุดนี้เรามีโอกาสได้ทดลองใช้ด้วย ดูรีวิวได้ที่นี่)

ที่มา http://www.livescience.com/44170-fitness-tracker-heart-rate-monitors.html

จบปิ้งแค่นี้ละกัน ยืนเมื่อยละ ^ ^ มีอะไรใหม่ๆจะมา update ให้ทีหลังค่ะ

#IDoThisWhileStanding


2 comments:

  1. เห็นมีราคา 1500 บาทมี Heart Rate ด้วยคับ
    http://aliexpress-guru.blogspot.com/2016/03/smartwatch-heart-rate-monitor-cheap.html

    ReplyDelete

*************************************************************************************
ผักกาดๆ ถ้าข้อความไม่ขึ้น นั่นแปลว่า blog คิดว่าข้อความของท่านเป็น spam ไม่ต้องกังวลค่ะ comment เหล่านี้จะตกไปอยู่ที่กล่อง spam รอให้เจ้าของ blog มาตรวจสอบ (ก็คือเรานั่นเอง ^ ^)
*************************************************************************************

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...